ตอบดีจนมงจะลงหัว! เปิด 5 เทคนิคการสัมภาษณ์งานกับชาวต่างชาติ รับประกันว่ามีแต่ได้กับได้

Could you please tell me about yourself? คำถามสุดคลาสสิกแบบไปสัมภาษณ์งานกับชาวต่างชาติที่ไหนก็ต้องเจอ แต่เชื่อไหมว่าคนไทยส่วนใหญ่ตกม้าตายกับคำถามง่ายๆ แบบนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะตอบยังไงให้ถูกใจเขาดี จะบอกไปว่า

  • Hi, my name is Kanpong – อันนี้ใน CV ที่เขาถือมีอยู่แล้ว ไม่ต้องย้ำอีก
  • I live in Bangkok with my family – นี่ก็ไม่ได้ผิด แต่ไม่ควรพูดเรื่องส่วนตัวในครั้งแรกที่เจอกัน
  • I love eating – ก็น่ารักดี แต่ไม่เกี่ยวกับงาน อย่าพูดถึงสิ่งที่ไม่มีจุดเด่น

จริงๆ แล้วการเตรียมตัวไปสัมภาษณ์งานเป็นภาษาอังกฤษ หรือสัมภาษณ์งานกับชาวต่างชาตินั้น นอกจากเรื่องฝึกฝนในการตอบคำถามแล้ว การเตรียมตัวให้พร้อมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะธรรมชาติของการสัมภาษณ์นั้นจะแตกต่างจากการสัมภาษณ์เป็นภาษาไทย ต้องอาศัยประสบการณ์ และเทคนิคเพื่อสร้างความประทับใจในแต่ละครั้งที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์

นั่นแปลว่าการเตรียมตัวของเราต้องเป๊ะเพื่อสร้างความปัง ให้เขารู้สึกว่าถ้าไม่เลือกเราแล้วจะต้องเสียใจ!

Company Profile: ศึกษาข้อมูลที่ทำงานใหม่อย่างละเอียด

จะไปอยู่กับเขาก็ต้องทำความรู้จักเขาก่อน นอกจากจะเกี่ยวกับมารยาทแล้ว ยังวัดได้เลยว่าคุณมีความตั้งใจแน่วแน่อยากไปทำงานในบริษัทนั้นมาแค่ไหน คำถามอาจมาแบบตรงๆ หรืออ้อมๆ เพื่อวัดว่าคุณทำการบ้านมาดีแล้วหรือยัง

ตัวอย่างคำถาม

Q: Do you know [CEO name] right? What do you think about him (or her)? รู้จักคุณ [ชื่อซีอีโอ] ใช่ไหม คิดว่าทิศทางในการทำงานของเขาเป็นยังไงบ้าง?

A: Personally, I think that he (or she) is a strong leader with an extraordinary vision… โดยส่วนตัว ผมคิดว่าเขา (หรือเธอ) เป็นผู้บริหารสายสตรองที่มีวิสัยทัศน์โดดเด่นไม่เหมือนใคร

Q: What makes you the best fit for this position? อะไรทำให้คุณคิดว่าคุณเหมาะกับตำแหน่งนี้?

A: I believe that our company provides many services that I have had experience with. ผมเชื่อว่าองค์กรของคุณให้บริการในหลากหลายรูปแบบซึ่งตรงกับประสบการณ์ที่ผมมี

Keyword

  • This position
  • his industry
  • Company
  • hire
  • Salary

หากคุณทำคะแนนตรงส่วนนี้ได้ดี ก็น่าจะสร้างความประทับใจให้กับบริษัทใหม่เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วคำถามประเภทนี้ไม่มีถูกหรือผิด เพราะเขาอยากวัดว่าคุณมีใจอยากมาทำงานด้วยกันมากแค่ไหน

Cleverness: ถามปุ๊บ ตอบปั๊บ ให้เวลาหายใจแค่ 1 วินาที

‘ความมั่นใจ’ เป็นลักษณะนิสัยของชาติตะวันตกผู้ใช้ภาษาอังกฤษ พวกเขาย่อมคาดหวังว่าคนที่จะมาทำงานด้วยกันต้องมีความมั่นใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะเกี่ยวข้องถึงภาวะการตัดสินใจในองค์กร อาการประหม่าระหว่างสัมภาษณ์จะเป็นตัวหักคะแนนที่ดีเลยล่ะ อันไหนที่ถามแล้วยังคิดไม่ออก หรือยังตอบไม่ได้ ก็ต้องใช้เทคนิคในการสื่อสารเพื่อลดความตื่นเต้น และไม่ให้เขาจับโป๊ะของเราได้

ตัวอย่างคำถาม

Q: What was the last book you’ve read? หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่านคืออะไร?

A: Well… the latest one that I’ve read is The Little Prince by Antoine de Saint-Exupéry เอ่อ… เล่มล่าสุดที่ฉันอ่านก็คือ เจ้าชายน้อย ของอ็องตวน เดอ แซงเต็ก ซูเปรี

Q: Where do you see yourself in 5 years? คุณมองเห็นว่าตัวเองเป็นอย่างไรในอีก 5 ปี?

A: I would say, in five years, I would love to be able to provide similar guidance, potentially taking on a leadership role. ผมเชื่อว่า ในอีก 5 ปี ผมจะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถแนะนำ และผลักดันให้คนอื่นมีความเป็นผู้นำได้

Keyword

  • Personally
  • To me
  • Well
  • I would say
  • I feel that

การคิดคำตอบโดยปล่อยให้เกิดความเงียบในห้องสัมภาษณ์ กับการพูดคำอุทานบางอย่างออกมาก่อนนั้น สร้างความรู้สึกที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คำพูดอย่าง Well หรือ So แม้จะดูไม่เป็นทางการสักเท่าไหร่ แต่ก็สร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้นได้ คลังคำศัพท์เหล่านี้ไม่ควรถูกมองข้าม ในบางครั้งทำประโยคดูสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีความเป็นภาษาพูด มากกว่าจำเป็นประโยคมาจากหนังสือ

Confidence: ความมั่นใจต้องมาก่อน

ระบบการศึกษาไทยมักไม่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความมั่นใจ นี่คือจุดอ่อนเวลาคนไทยไปสัมภาษณ์งานกับชาวต่างชาติ คือไม่สามารถยืนยันความสามารถของตัวเอง หรือต่อรองผลประโยชน์ซึ่งควรทำให้จบในวันที่สัมภาษณ์ ความมั่นใจควรมีตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปในบริษัท พูดจาฉะฉาน และสบตากับผู้พูดตลอดเวลา

ตัวอย่างคำถาม

Q: What is your greatest strength? จุดแข็งของคุณคืออะไร?

A: I am a skilled programmer with over 5 years of experience. ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ที่มีความสามารถ และประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 5 ปี

Q: What are your salary expectations? คุณคาดหวังเงินเดือนเท่าไหร่?

A: With my experience, I’d like to receive something in the range of 40k to 42k baht. ด้วยประสบการณ์ที่มี ผมอยากได้เงินเดือนประมาณ 40,000 – 4,2000 บาท

Keyword

  • Strength
  • Weakness
  • Salary
  • New Job
  • Position

เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาถามเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ หรือทักษะของเรา ให้ไปตอบไปด้วยความมั่นใจไม่ต้องเกริ่นยาว และไม่ต้องกลัวที่จะพูดถึงผลงานชิ้นโบว์แดงที่ผ่านมาว่าเคยสร้างประโยชน์อะไรให้กับองค์กรเก่าบ้าง หรือหากมีคำถามเกี่ยวกับสวัสดิการ เช่น โบนัส วันหยุด หรือค่าทำงานล่วงเวลา ให้ถามกันตรงนี้เลย ดีกว่าไปแอบถามกันทีหลัง

Come Positive Energy: เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องดี

ไม่ว่าคุณจะมีประสบการณ์แย่ๆ จากบริษัทเก่าอย่างไร แต่คนฟังก็อยากเห็นมุมมองอย่าง ‘มืออาชีพ’ ที่มากกว่าการ ‘ไม่ชอบ’ หรือคำตอบแบบ ‘เงินเดือนน้อยเกินไป’ เพราะการรับพนักงานที่ทัศนคติดีย่อมส่งผลบวกต่อองค์กรทั้งในเรื่องของความคุ้มว่าที่มองเห็น (มูลค่าที่เพิ่มขึ้นต่อหัว) และที่มองไม่เห็น (บรรยากาศในการทำงานที่ส่งผลให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

ตัวอย่างคำถาม

Q: Why do you want to leave your current company? ทำไมคุณถึงอยากจะออกจากงานที่ทำอยู่ปัจจุบัน?

A: I’ve enjoyed working with great people at my current job, but this opportunity in this company fits very well with the direction I want to take in my career. ผมรู้สึกสนุกกับงานที่ทำอยู่มาก โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมงานที่ดี แต่โอกาสที่ผมกำลังจะได้รับนี้มันตรงกับสายงานในการเติบโตของผมมากๆ

Q: How would you deal with an angry or irate customer? มีวิธีรับมือลูกค้าที่ขี้โมโห หรืออารมณ์ร้อนยังไง?

A: Sometimes customers may be unhappy with their experience. I would inform them that I would be more than happy to assist them with resolving the problem. อาจจะมีบ้างที่ลูกค้าไม่พอใจในประสบการณ์ที่จะได้รับ แต่ผมก็บอกเขาตรงๆ ว่าเรายินดีที่จะช่วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้น มีอะไรให้ช่วยบอกได้เลย

Keyword

  • If I were
  • Leave the job
  • Colleagues
  • Situation
  • How would you

ไม่ใช่คุณคนเดียวที่สามารถทำตำแหน่งนี้ได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่องค์กรจะรับเข้าทำงาน แท้ที่จริงแล้วการสัมภาษณ์งานเป็นเหมือนละครฉากหนึ่งที่หลอกล่อคุณมาเพื่อดูระบบความคิด ดูวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือตรรกะในการตอบ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สอนกันได้ยาก หนึ่งปัญหามีหลายทางออก ต้องอาศัยประสบการณ์ และการมองโลกที่ดีเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายในหน่วยงาน

Choose and Sharp: เลือกข้างให้ชัด ตัดสินใจให้เด็ดขาด

ยิ่งตำแหน่งสูงขึ้นเท่าไหร่ การตัดสินใจที่เฉียบขาดและรวดเร็วนั้น ก็ถือเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ระดับผู้บริหารต้องมี เพราะการตัดสินใจที่ล่าช้าจะนำมาซึ่งการสูญเสียผลประโยชน์ขององค์กร และผูกพันกับคนอื่นๆ ภายใต้การบังคับบัญชาของตัวเอง และถึงแม้ว่าคุณจะเพิ่งเริ่มก้าวแรกของโลกแห่งการทำงาน ก็ควรจะฝึกสกิลล์นี้ไว้ใช้ยามจำเป็น เมื่อถึงเวลาต้องเลือก และตัดสินใจ เซนส์ของเราจะให้เลือกสิ่งที่ถูกต้องที่สุดเอง

ตัวอย่างคำถาม

Q: If someone offers you a new job, will you accept it? ถ้ามีคนมาเสนองานใหม่ให้ คุณจะรับไหม

A: Honestly, I will consider the offer because receiving an opportunity is a gift from God, and that means my current works are outstanding and useful for the company! บอกตามตรงเลยก็คือคงพิจารณาข้อเสนอเอาไว้ครับ เพราะโอกาสก็เหมือนพรจากพระเจ้า แต่นั่นหมายถึงว่างานที่ผมทำอยู่นั้นโดดเด่นมาก ซึ่งยังไงก็ส่งผลดีต่อองค์กรครับ

Q: If you had to fire someone, how would you fire him/her? ถ้าคุณต้องไล่พนักงานออกจากงาน คุณมีวิธีไล่พนักงานคนนั้นออกอย่างไร?

A: After the second warning, I would consult with HR about the appropriate protocol. Then I would inform the employee of the things that they did well along with those that they did poorly. หลังจากเตือนครั้งที่สอง ผมจะปรึกษาฝ่ายบุคคลเกี่ยวกับการให้ออกตามขั้นตอน จากนั้นจะแจ้งพนักงานคนนั้นถึงเหตุผล โดยเฉพาะเนื้องานที่ไม่สมควรจะได้อยู่ต่อ

Keyword

  • If you
  • Will you
  • …or not
  • What do you think
  • How do you

การเลือกข้างไม่ได้แปลว่าคุณเห็นด้วยกับคำตอบนั้น 100% แต่แสดงออกว่าคุณเชื่อในตัวเลือกนั้นมากกว่าอีกอันหนึ่ง การไม่เลือกข้าง หรือทำแสดงความคิดเห็นแบบคลุมเครือจะทำให้งานไปต่อได้อย่างล่าช้า แน่นอนว่าการตัดสินใจมาพร้อมกับความรับผิดชอบ แต่ก็นั่นแหละ ไม่ว่าทำอะไร ก็ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน