จากนักเรียนใหม่ในต่างแดน .. สู่ ก้อปันกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการ ศึกษาต่อ community college อเมริกา
สวัสดีครับ ผมกันต์ กันต์พงศ์ ทวีสุข ศิษย์เก่าวิทยาลัยชุมชนในอเมริกา และผู้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศก้อปันกัน วันนี้ผมจะขอแชร์ประสบการณ์การเรียนที่วิทยาลัยชุมชน ที่นำมาสู่การก่อตั้งก้อปันกัน กับทุกๆคนครับ
ฤดูใบไม้ผลิ เดือนมีนาคมของปี 2553 ผมได้เริ่มใช้ชีวิตการศึกษา ณ วิทยาลัยชุมชนชอร์ไลน์ (Shoreline Community College) ผมรู้สึกตื่นเต้นกับการที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ผมรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะการปรับตัวกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง การใช้ชีวิตที่ออกนอกจากความคุ้นเคยที่มีเพื่อนและครอบครัวอยู่เคียงข้าง
เนื่องจากผมเดินทางจากประเทศไทยไปยังเมืองซีแอตเทิล (Seattle) โดยที่ไม่รู้จักใคร รู้เพียงแค่ว่าจะมีครอบครัว“สไตล์เนอร์” ซึ่งเป็นโฮสต์ที่ได้จัดหาไว้หลังจากที่สมัครเข้าวิทยาลัย มารับผมจากสนามบิน ภาษาอังกฤษของผมก็ไม่ได้ดีมาก พอมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างทางหลักไวยากรณ์ แต่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนนานาชาติหรือหลักสูตรสองภาษามาก่อน จึงมีโอกาสน้อยที่จะได้ฝึกพูด ฟังและเรียนรู้จากคนต่างชาติ
ชีวิตของผมที่วิทยาลัยได้เริ่มขึ้นด้วยการเข้าร่วมงานปฐมนิเทศน์สำหรับนักเรียนนานาชาติใหม่เป็นเวลา 5 วัน งานปฐมนิเทศนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าการปรับตัวนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยากจนเกินไป เพราะมีนักเรียนนานาชาติอีกหลายคนที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม กำลังจะเริ่มชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่พวกเราไม่คุ้นเคยไปด้วยกัน ในเทอมนั้นมีนักเรียนไทยอีก 1 คนที่จะเริ่มเรียนด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีของผมที่ไม่ได้ไปเจอคนไทยที่เยอะเกินทำให้ผมได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน
ที่สำคัญงานปฐมนิเทศน์นี้ตัวแทนนักเรียนนานาชาติที่กำลังศึกษาอยู่ในตอนนั้นได้มีร่วมในการต้อนรับและให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการนำพาพวกเราไปทัวร์เมืองซีแอตเทิล ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ
ในเทอมฤดูใบไม้ร่วงของทุกปีแผนกงานบริการของนักเรียนนานาชาติจะเปิดรับสมัครตำแหน่งตัวแทนและที่ปรึกษาของนักเรียนนานาชาติ (International Peer Mentors) พวกรุ่นพี่ที่กำลังทำงานนี้อยู่ในตอนนั้นก็ชวนให้ผมลองสมัคร ในตอนแรกผมก็ปฎิเสธไป เพราะในใจคิดว่าทักษะการพูดและการฟังของผมก็ไม่ดี ประสบการณ์การทำงานของผมก็ไม่มี สมัครไปก็คงไม่ได้
เมื่อเวลาผ่านไปผมคิดได้ว่า สมัครไปก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย ถ้าได้งาน ผมจะมีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะการทำงาน ได้ค่าตอบแทนมาเป็น pocket money (ชม.ละ $11.11 USD) ที่สำคัญจะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนจากนานาประเทศ ผมตัดสินใจส่งใบสมัครไปและได้เข้าร่วมกับกิจกรรมที่ถูกออกมาเพื่อประเมินผู้สมัครกว่า 30 คน โดยประมาณมี 10 คนได้รับคัดเลือกสำหรับการสัมภาษณ์
กิจกรรมนี้แบ่งเป็น 2 สัปดาห์ ที่รวมไปถึง การให้ผู้สมัครออกความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการบริการและช่วยเหลือนักเรียนนานาชาติ การทดสอบการเขียนจดหมายถึงนักเรียนที่สนใจจะสมัครเข้าวิทยาลัย การมีส่วนร่วมในการอภิปรายตามหัวข้อที่กำหนด และการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อการนำเสนอวิทยาลัยแก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยือน ผมใช้เวลาหลังจากการเรียนในการเตรียมตัวสำหรับกิจกรรมนี้อย่างเต็มที่
นี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอที่กลุ่มของผมได้จัดทำขึ้น ณ ตอนนั้น
ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากกิจกรรมนี้ ผมก็ดีใจมากที่ได้รับการติดต่อสำหรับการสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์งานครั้งแรก ผมเตรียมตัวโดยการตั้งคำถามและตอบด้วยตัวเอง เมื่อเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ ก็มีรุ่นพี่ในตำแหน่งและที่ปรึกษาของงานรอสัมภาษณ์อยู่ คำถามทั้งหมดมีประมาณ 12 ข้อ ณ ตอนนั้นผมก็ทำใจให้นิ่ง คิดและพูดอย่างรอบคอบตามความรู้สึก ด้วยสติ เมื่อสัมภาษณ์เสร็จผมก็รู้สึกโล่ง เพราะว่ารู้สึกว่าได้ทำเต็มที่แล้ว
..และในช่วงเย็นของวันพฤหัสบดี 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ครอบครับสไตล์เนอร์ก็ได้มาเคาะประตูห้องผม และบอกว่ามีโทรศัพท์สำหรับผม ผู้เป็นปรึกษาของพวกรุ่นพี่ได้โทรมาและบอกว่ายินดีด้วย พวกเราได้คัดเลือกและอยากที่จะให้ผมร่วมงานกับเขา และถามว่าผมประสงค์ที่จะร่วมงานอยู่หรือป่าว แน่นอนผมก็ตอบไปว่า แน่นอนผมต้องการ
และนี่ก็คือก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตการศึกษาในต่างประเทศของผม นักเรียนใหม่ในต่างแดน ในทุกๆภาคเรียนนั้น ผมมีโอกาสร่วมมือกับเพื่อนร่วมทีมที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวันและอินโดนีเซีย ในการจัดการประชุม วางแผน ตระเตรียมและดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการร่วมมือกับแผนกงานบริการนักเรียนนานาชาติในการจัดงานปฐมนิเทศน์ ซึ่งทำผมได้เริ่มฝึกการคิดอย่างสร้างสรรค์และการลงมือทำ ฝึกการแยกแยะระหว่างเรื่องส่วนตัวกับหน้าที่ ฝึกการคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบตัวเลือกต่างๆสำหรับการตัดสินใจ ที่สำคัญผมได้เรียนรู้หลักการในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
แต่สิ่งที่มีคุณค่าและความหมายมากที่สุดสำหรับผม คือ การได้สร้างมิตรภาพกับผู้คนเหล่านี้ที่ช่วยให้ผมได้กล้าที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพราะว่าการสนับสนุนและการรับฟังที่พวกเค้าได้ให้กับผมเสมอมา
ในปี 2556 ผมได้กลับมาไทยและก่อตั้งศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศก้อปันกัน ให้คำปรึกษาและบริการในการเรียนต่ออเมริกา ด้วยความรู้และความเข้าใจในระบบ community college จากประสบการณ์ตรง ก้อปันกันเริ่มให้ข้อมูลและบริการการศึกษาต่อ community college เพราะผมเห็นว่า เรายังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ community college เป็นทางเลือกสำหรับการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในอเมริกา ที่นักเรียนชาวอเมริกันเองกว่า 50% เลือก และได้รับความนิยมโดยนักเรียนจากประเทศฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวันและจีน ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 3-4
community college เป็นสถาบันอุดมศึกษาโดยรัฐบาลสหรัฐฯที่ต้อนรับนักศึกษาที่มีความหลากหลาย เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนในสาขาวิชาที่สนใจ และเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมสำหรับนักศึกษานานาชาติในการเรียนต่ออเมริกา เนื่องจาก community college ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอน ค่าใช้จ่ายประหยัดกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยโดยตรง 50-70% มีจำนวนนักเรียนต่อห้องเฉลี่ย 20-25 ท่าน และมีแผนกบริการดูแลนักเรียนนานาชาติโดยเฉพาะ
บทความเกี่ยวข้อง
• เกี่ยวกับ Community College click ที่นี่
• การเรียนรู้ของผมจากประสบการณ์ใน Community College – click ที่นี่