“อยู่ไทยคงไม่เก่งขนาดนี้” คุยกับเด็กไทยที่ตัดสินใจไปเรียนต่อ ม.ปลาย ในอเมริกา จบเร็วกว่าและกล้าออกจาก Comfort Zone
หลายครั้งที่น้อง ๆ เดินเข้ามาปรึกษาเรื่องการเรียนพร้อมกับถามคล้ายๆ กันว่า “ไปเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ ม.ปลาย เลยดีไหม?” เพราะอาจจะรู้สึกไม่โอเคกับหลักสูตรของการศึกษาไทย หรือพบว่าตัวเองมีศักยภาพในการเรียนได้เร็วกว่าคนอื่นๆ แต่การไปเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ช่วงนี้มีเรื่องให้คิดหลายอย่าง ทั้งความยินยอมของผู้ปกครอง ทุนทรัพย์ หรือแม้กระทั่งต้องทิ้งช่วงชีวิตมัธยมปลายกับเพื่อนๆ ไปซึ่งอาจจะมีความสำคัญมากกับบางคน ไม่แปลกใจเลยที่การไปเรียนต่อในต่างประเทศในระดับชั้นนี้จะตัดสินใจยากกว่าไปต่อเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย
วันนี้ KPG มีนัดคุยกับน้อง ซิดนีย์ – (ชื่อ) (นามสกุล) ศิษย์เก่า Shoreline Community College ที่ไป เรียนต่ออเมริกา ตั้งแต่อายุ 16 ปีในหลักสูตร 2+2 และปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ปีสุดท้ายที่ University of California, Berkeley ในคณะเศรษฐศาสตร์ โดยการไปเรียนในครั้งนี้จะเรียกว่าเกิดจากความบังเอิญก็ได้ เพราะตอนแรกน้องซิดนีย์ได้ดร็อปเรียนเพื่อไปแลกเปลี่ยนแต่ก็เกิดปัญหา จนในที่สุดได้มาเรียนที่ Shoreline เพราะไม่อยากเสียเวลาที่ดร็อปไป และตั้งใจว่าเมื่อครบ 1 ปีก็จะกลับมาเรียนต่อที่เมืองไทย
“อะไรทำให้ซิดนีย์ตัดสินใจเรียนต่อที่ Shoreline จนเข้ามหาวิทยาลัย?”
KPG ชวนทุกคนมานั่งคุยกับน้องซิดนีย์เพื่อหาคำตอบ
ไม่ได้ตั้งใจมาแต่สุดท้ายเรียนต่อหลายปีเลย อะไรทำให้ซิดนีย์อยากอยู่ที่นี่ต่อ?
ตอนแรกซิดนีย์ตั้งใจจะไปแลกเปลี่ยนแต่มีปัญหา ซึ่งตอนนั้นก็ทำเรื่องดร็อปเรียนที่ไทยไปแล้ว ถ้าไม่หาที่เรียนต่อก็จะว่าง พอดีมีคนรู้จักเขาเรียนอยู่ที่ Shoreline ก็เลยลองมาเรียนดู พอเรียนไปปีนึงแล้วก็ชอบบรรยากาศในห้องเรียน เคยคุยกับเพื่อนที่ไทยแล้วรู้สึกว่าคลาสที่อเมริกาจะมีความยืดหยุ่นกว่ามาก มีวิชาให้เลือกเรียนเยอะกว่า ชอบความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักเรียน รู้สึกว่าเขาเป็นกันเอง ใจดีและเข้าใจนักเรียน ก็เลยตัดสินใจเรียนต่อ แล้วก็มีกิจกรรมให้ลองทำหลายๆ อย่างที่ถ้าเราอยู่ไทยอาจไม่ได้เป็นคนหนึ่งที่กล้าออกไปทำขนาดนั้น ซิดนีย์เคยทำงานพาร์ทไทม์เป็น Peer Activity Leader ด้วย ทำหน้าที่กึ่งๆ ผู้ช่วยครูในคลาสเด็กแลกเปลี่ยนคนญี่ปุ่น เป็นติวเตอร์ให้เขา
ซิดนีย์คิดว่าวิชาไหนถ้ามีในเมืองไทยก็น่าจะดี?
ส่วนใหญ่เป็นวิชาที่ไม่ได้อยู่ในเมเจอร์ ที่ซิดนีย์ลงแล้วก็รู้สึกว่าดีเลยก็คือแอคติ้ง เพราะว่ามันไม่ได้เป็นคลาสที่อยู่ดีๆ จะไปเรียนได้ ต้องเลือกลงเอง และด้วยความที่คลาสใน Shoreline มีขนาดค่อนข้างเล็ก เราก็เลยไม่ได้เขินอายเวลาที่ต้องแสดงต่อหน้าคนอื่น ได้เจอเพื่อนเยอะด้วย เพราะว่าต้องทำกิจกรรมการแสดงด้วยกัน แล้วก็มีอีกคลาสหนึ่งที่รู้สึกว่ามีประโยชน์มากคือ Public Speaking เขาจะสอนเรื่องการพูด แล้วก็ให้แต่ละคนไปพรีเซ้นท์หน้าห้อง บรรยากาศคล้ายๆ คลาสดราม่าเลย คือไม่ได้ใหญ่มาก เพราะฉะนั้นมันก็เอื้อให้เราได้ฝึกพูด ฝึกทำตามที่ครูสอนได้
แล้วการปรับตัวตอนไปอยู่ที่อเมริกาช่วงแรกล่ะ ทั้งเรื่องเรียน และการใช้ชีวิต อะไรใช้เวลามากที่สุด?
คิดว่าเป็นเรื่องการใช้ชีวิตเพราะไม่เคยอยู่ต่างประเทศและไม่เคยอยู่คนเดียวมาก่อน ถ้าอยู่ที่ไทยก็มีพ่อแม่ช่วยเหลือหลายๆ อย่าง แต่ตอนไปอยู่ที่นี่ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ส่วนเรื่องการเรียนก็ต้องปรับตัว เพราะบรรยากาศในห้องเรียนไม่เหมือนกัน ถ้าเราอยู่ในห้องเรียนที่ไทย ครูจะไม่ค่อยถามหรืออยากให้เด็กตอบคำถามขนาดนั้น คิดว่าคลาสในไทยไม่ได้ส่งเสริมให้พูดความคิดของตัวเองขึ้นมา แต่ถ้าเป็นคลาสที่นี่ก็ค่อนข้างถามความเห็นบ่อย แล้วทุกคนก็กล้าตอบคำถามโดยที่ไม่กลัวผิดหรือกลัวครูจะว่า เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ปรับตัวพอสมควร เพราะคลาสที่ Shoreline ค่อนข้างเล็ก ครูเขาก็จะรู้จักนักเรียนแล้วจะเรียกให้เราตอบคำถาม เพราะตอนแรกๆ รู้สึกว่าถ้าตอบไม่ถูกเราจะไม่อยากตอบ แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ เราก็ตอบได้ครูก็ไม่ได้ว่าอะไร
แล้วสมมติว่าเราไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษขนาดนั้นล่ะ จะมีโอกาสมาเรียนได้ไหม?
เรื่องภาษาก็อาจจะต้องเข้าใจประมาณหนึ่ง แต่ไม่ต้องคล่องมากขนาดนั้นก็ได้ คลาสที่นี่ค่อนข้างเล็กซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษเพราะทำให้เราสามารถเข้าถึงครูได้ง่าย และเขาก็ดูแลทั่วถึงทุกคนในคลาส ที่สำคัญคือ Shoreline จะมีหน่วยงานหนึ่งที่ชื่อ International Education เอาไว้ดูแลนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะ เขาก็ค่อนข้างคุ้นชินกับนักเรียนต่างชาติพอสมควร พวกแบบทดสอบภาษาอังกฤษอย่าง IELTS หรือ TOEFL ก็มาสอบที่นี่ได้ ข้อดีอีกอย่างเวลามีนักเรียนต่างชาติเยอะก็คือซิดนีย์ไม่เคยเห็นใครโดนบูลลี่เรื่องการพูดไม่ชัดเลย เพราะนักเรียนต่างชาติไม่ได้ใช้อังกฤษเป็นภาษาแม่ เขาก็จะมีความเข้าใจในเรื่องนี้สูงมาก
รู้มาว่าซีดนีย์ก็เรียนหลักสูตร 2+2 อยากให้อธิบายสำหรับคนที่อยากรู้เรื่องนี้มากขึ้นหน่อยได้ไหม?
ก็คือเราเรียนที่ College ก่อน 2 ปี แล้วก็โอนหน่วยกิตไปในคณะที่มหาวิทยาอีก 2 ปี ก็จะได้วุฒิปริญญาตรี เราก็ต้องเรียนวิชาที่ตามแต่ละที่เขากำหนดไว้ซึ่งวิชาพวกนั้นส่วนใหญ่ที่ Shoreline ก็มีให้ลงอยู่แล้ว เรารู้ว่าเราเรียน เมเจอร์อะไร ก็ลองดูมหาวิทยาลัยที่อยากเข้า แล้วเขาก็จะมีในเว็บของมหาวิทยาลัยว่าเราต้องลงคลาสไหนบ้างก็ลงคลาสตามที่เขาบอก ซึ่งถ้าไม่แน่ใจก็ถามกับอาจารย์ที่ปรึกษาได้ว่าเราอยากเข้ามหาวิทยาลัยประมาณนี้ ให้เขาช่วยดูได้ว่าเราต้องลงคลาสไหนบ้างถ้าไม่ชัวร์ เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาเขาก็ค่อนข้างชำนาญ และรู้ว่าเราต้องเรียนคลาสไหนบ้าง สมมติว่าจะมีบางคลาสที่นักเรียนชอบลืมลงกันหรือว่าคนลงผิดเทอม เขาก็ช่วยดูให้ได้ แล้วเขาก็ช่วยแนะนำให้ได้ว่าวิชาไหนเราควรจะลงเทอมไหน
ถ้าให้เทียบกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไทย ซิดนีย์รู้สึกว่าที่นี่มีโอกาสมากกว่าไหม?
รู้สึกว่ามันก็ต่างกันเพราะที่ไทยเขาจะโฟกัสเรื่องคะแนนสอบเป็นหลัก แต่ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยที่อเมริกามันจะมีหลายปัจจัยไม่ใช่แค่เกรด อาจจะดูว่าเราเป็นคนยังไง ดูว่าประสบการณ์ชีวิตเราทำอะไรมาบ้าง ทำไมเราถึงอยากเรียนมหาวิทยาลัยนี้ ทำไมอยากเรียนเมเจอร์นี้ เขาจะพิจารณาอย่างอื่นด้วยไม่ใช่แค่เกรด ตอนที่ยื่นเข้ามหาวิทาลัยก็ไม่ต้องสอบอีก ไม่มีสัมภาษณ์ มีเขียน Essay อย่างเดียว แต่ถ้าอยู่ที่ Shoreline เขาก็จะมี Transfer Guarantee กับมหาวิทยาลัยที่เป็นพาร์ทเนอร์กัน ถ้าเกรดไม่แย่มากยังไงก็มีมหาวิทยาลัยให้เรียน
เข้ามหาวิทยาลัยยังไงก็ต้องปรับตัวอีกครั้งถูกไหม? แล้วทำไมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์แทนที่จะเรียนต่อด้านธุรกิจ?
ก็ปรับตัวพอสมควร เพราะถ้าเทียบกับตอนที่อยู่ Shoreline คลาสเขาค่อนข้างเล็ก ครูทุกคนจะรู้จักชื่อเรา สมมติว่ามีคำถามไปถามก็ไม่ต้องรอนาน เขาจะมีเวลาทำงานกำหนดไว้แล้วเราก็ไปนั่งคุยกับเขาได้เลย แต่ถ้าเป็นที่มหาวิทยาลัย คลาสจะค่อนข้างใหญ่ เทอมแรกที่ซิดนีย์มาเรียนมีคลาสนึงพันกว่าคน อาจจะไม่ได้มีโอกาสในการเข้าถึงครูขนาดนั้น แต่มหาวิทยาลัยก็พยายามช่วยเหลือโดยให้ มี TA (Teacher Assistant) ที่เราไปถามได้ แต่ก็ไม่ได้ถามง่ายเหมือน Shoreline ส่วนที่เลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์เพราะรู้สึกว่ามันกว้างกว่า ไม่ใช่แค่โฟกัสไปที่เรื่องการทำธุรกิจอย่างเดียว
UC Berkeley นี่อยู่ใน Top 5 ด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย พวกการจัดลำดับมหาวิทยาลัยนี่มีผลมากไหม?
ก็คิดว่ามีผลพอสมควร รู้สึกว่าอาจารย์ที่นี่เก่งทุกคน ทุกคนเก่งในด้านที่ตัวเองสอน อย่างในบางวิชาที่เรียน ผลงานวิจัยที่เขายกตัวอย่างหรือเอามาสอนในคลาสก็เป็นสิ่งที่เขาทำด้วยตัวเอง หรือว่าหนังสือบางเล่มที่เรียน คนเขียนคือคนที่สอนเราเอง ซึ่งไม่รู้ว่าที่อื่นเป็นยังไง แต่ก็คิดว่าผู้สอนที่นี่เขารู้ลึกมาก
ยากไหม?
ก็ยากแต่สนุกดี เทอมนึงจะเรียนประมาณ 3-4 ตัว ไม่เยอะเท่ากับที่เมืองไทยตามที่ถามเพื่อนมา เพราะต้องทำงานส่งเยอะเหมือนกัน เวลาส่งงานเขาก็จะมีคำถามแล้วให้เราเขียนตอบส่งไป วิชาที่เรียนก็มีหลากหลายมาก อย่างตัวที่ชอบก็คือ Macroeconomic Policy from the Great Depression to Today เรียนว่ามีเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจอะไรบ้าง แล้วธนาคารกลางจัดการกับเหตุการณ์นี้ยังไงบ้าง บางคลาสโฟกัสในประเทศอื่น เช่น อัฟริกา
“ก้อปันกัน” ช่วยซิดนีย์ได้มากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่ตอนไปเรียนที่ Shoreline?
รู้จัก “ก้อปันกัน” เพราะเพื่อนของเพื่อนเคยมาเรียนที่ Shoreline ก่อน ข้อดีอย่างหนึ่งเลยก็คือพี่กันก็เป็นศิษย์เก่า Shoreline ซึ่งเป็นคนไนซ์ และตอบคำถามได้ดี เข้าใจว่าบรรยากาศที่ Shoreline เป็นยังไง เข้าใจเรื่องการเรียนว่าจะต้องเป็นยังไง พี่กันค่อนข้างสนิทกับอาจารย์ที่ปรึกษาของ Shoreline พอสมควร เพราะฉะนั้นถ้ามีคำถามอะไรเขาถามแล้วตอบกลับมาได้เลย ตอนที่มาช่วงแรกๆ ก็ยังถามพี่กันอยู่บ่อยๆ แบบว่าให้พี่กันช่วยดูคลาสให้ บางทีไม่แน่ใจควรลงแบบไหนก็ถามพี่กัน
ต้องเตรียมตัวรับมือกับความเหงาไหม ถ้าตัดสินใจไปอยู่ที่นั่นคนเดียว?
เรื่องความเหงาไม่ได้เป็นปัญหาเท่าไหร่ ตอนนั้นอยู่บ้านโฮสต์ด้วยเลยไม่ได้เหงาขนาดนั้น เพราะในบ้านก็มีสมาชิกคนอื่นอยู่ด้วย กินข้าวกับโฮสต์ทุกวันเลย อยู่กับโฮสต์ตลอดเวลาที่เรียน Shoreline สิ่งที่ควรเตรียมตัวคือความมุ่งมั่นมากกว่า เพราะการเรียนที่นี่ต้องรับผิดชอบตัวเอง ไม่มีคนมาตามให้ส่งงาน ถ้ามีความมุ่งมั่นแล้วก็ไม่มีอะไรต้องกลัวเลย
เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Shoreline Community College – คลิก