Community College : ระบบการศึกษาที่เปลี่ยนอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้

Photo Credit : Cparks on Pixabay

ประวัติ Community College
ระบบการศึกษาที่เปลี่ยนอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้

ระบบการศึกษาไทยที่ดูจะพัฒนาลงเรื่อยๆ (ขอโทษที่ต้องใช้คำนี้) เป็นตัวกระตุ้นให้ผมอยากเดินทางเพื่อไปค้นหา ‘การศึกษา’ ที่น่าจะตอบโจทย์ของตัวเองได้มากกว่านี้ แต่ใช่ว่าศึกษาต่อต่างประเทศจะเป็นเรื่องง่าย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เราต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะเรื่องเงินค่าเทอมที่วัยรุ่นชนชั้นกลางอย่างผมต้องคิดแล้วคิดอีกว่าสามารถเอาตัวรอดได้ในต่างประเทศได้จริง และรบกวนค่าใช้จ่ายจากครอบครัวเท่าที่จำเป็น ความฝันของผมเริ่มจะริบหรี่เมื่อพบว่าค่าเทอมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกานั้นพุ่งสูงเป็นหลักล้านทั้งสิ้น

จนกระทั่งมีรุ่นพี่ที่เขาเรียนจบจากอเมริกามาแนะนำให้ผมรู้จักกับระบบการศึกษาอีกประเภทหนึ่งที่ไม่เคยได้ยินเลยตั้งแต่เกิดมา (หรือเคยได้ยินแต่จำไม่ได้จริงๆ) นั่นก็คือ ‘Community College’ หรือเรียกว่า ‘วิทยาลัยชุมชน’ (บางคนอาจเรียกติดปากว่า ‘วิทยาลัย 2 ปี’) ไม่ใช่ทั้งโรงเรียนมัธยม ไม่ใช่มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันที่อยู่คู่อเมริกามานานกว่า 100 ปี ผลิตบุคลากรไปสร้างประเทศกี่ล้านคนแล้วก็ไม่รู้ ก่อนความฝันผมจะดับวูบ อยู่ดีๆ ก็มี Community College เข้ามาต่อแสงสว่างให้อีกครั้ง (เว่อร์มาก แต่จริง 5555) จากการศึกษาและสอบถามรุ่นพี่คนนั้น ผมสามารถสรุปเรื่องราวของ Community College ได้ประมาณนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1862

สภาในประเทศอเมริกาได้ออกรัฐบัญญัติหนึ่งฉบับที่ว่าด้วยการสนับสนุนการศึกษาในสังคมเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง ซึ่งนโยบายนี้ครอบคลุมถึงคนทุกเชื้อชาติที่อยู่ในประเทศอเมริกา ไม่แบ่งแยกผิวสี

ในปี 1901 เพรซิเดนท์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก้ที่ชื่อ William Rainey Harper ได้ก่อตั้ง ‘Joliet Junior College’ ขึ้นมา เขาได้แรงบันดาลใจมาจากระบบการศึกษาในประเทศเยอรมนี ที่จะแยกการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยออกเป็น 2 ช่วง คือต้องเรียน 2 ปีแรกให้เสร็จก่อน แล้วค่อยเรียนที่เหลือให้จบ เขาเชื่อว่าการศึกษาแบบนี้จะทำให้คนที่สมัครเข้าไปเรียนได้รู้ว่าตัวเองชอบหรือถนัดในสิ่งไหน (สวนทางกับนักเรียนไทยที่เรียนจบมาแล้วยังไม่รู้เลยว่าชอบคณะที่เรียนหรือเปล่า แต่ขอให้แอดมิชชั่นติดไว้ก่อน!) William Rainey Harper มองเห็นว่า ถึงแม้รัฐจะสนับสนุนการศึกษาของประชาชนทุกคนในประเทศ แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก หนึ่งคือคุณภาพของการศึกษาที่ไม่มีมาตรฐานในการจัดการ สองคือมหาวิทยาลัยอยู่ไกลบ้าน ค่าเทอมก็แพง คนที่เรียนจบมัธยมรู้สึกว่าการเดินทางมีค่าใช้จ่ายและเสียเวลา พวกเขาเลยเลือกที่จะไม่เรียนต่อในมหาวิทยาลัย เรื่องสุดท้ายคือพวก ‘ชนชั้นสูง’ ในมหาวิทยาลัยที่พยายามกีดกันการเข้าถึงและแบ่งแยกชนชั้นกับคนอื่น

จริงจังขึ้นมาอีกนิด เรื่องการศึกษานี่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อเมริกาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมและการสร้างประเทศอย่างจริงจัง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนโยบายต่างๆ มองเห็นแล้วว่า ถ้าไม่ทำให้คนมีการศึกษาไปมากกว่านี้ อีกหน่อยสู้ประเทศอื่นไม่ได้แน่ๆ โมเดล ‘Junior College’ ของ William Rainey Harper เลยเข้าตากรรมการและได้รับการผลักดันเรื่อยมาจนถึงการพิสูจน์ด่านแรก ช่วงทศวรรษที่ 1930s เกิดเหตุการณ์ Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก วิทยาลัยชุมชนที่มีอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว ได้เสนอให้มีการฝึกงานเพื่อลดอัตราการว่างงาน เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทักษะคนในชุมชน ซึ่งช่วงแรกที่เปิดสอนนั้น เป็นวิชาพื้นฐานอย่างศิลปศาสตร์เท่านั้น ด้วยความที่ ‘Junior College’ ตั้งขึ้นมาเพื่อขจัดปัญหาการเดินทาง เลยมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามชุมชนต่างๆ จนกระทั่งสุดท้ายได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Community College’ เพื่อให้เข้ากันกับบริบทอย่างแท้จริง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ถึงแม้ประเทศอเมริกาจะเป็นผู้ชนะในสงคราม แต่ประชาชนทุกคนก็ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เพราะสงครามเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับทุกคน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกกฎหมายที่มีชื่อเรียกว่า ‘GI Bill’ สนับสนุนการศึกษาของทหารและบุคลากรที่ช่วยรบ เพราะคิดว่า แม้สงครามจะจบแล้ว แต่การพัฒนาประเทศต้องดำเนินต่อไป จากการที่มี GI Bill นี้ ทำให้ประชากรที่มีสิทธิได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยชุมชนในละแวกที่ตัวเองอาศัยอยู่ ตัวเลขบันทึกไว้ได้ว่า ในช่วงนั้น มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นถึง 2.2 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นผู้หญิง 60,000 คน และคนผิวดำอีกกว่า 70,000 คน ช่วงนี้ของประวัติศาสตร์อเมริกาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันที่แท้จริง เพราะเมื่อก่อน คนที่จะไปมหาวิทยาลัยนั้น ส่วนมากจะเป็นผู้ชายผิวขาวทั้งนั้น – ช่วงนี้ละที่การศึกษาจะพลิกโฉมประเทศจริงๆ คนที่เรียน Community College ในตอนนี้คือรุ่นพ่อแม่ของเรา หรือที่ศัพท์เทคนิคเรียกว่า ‘Baby Boomers’ นั่นเอง

‘Junior College’ ที่กลายมาเป็น ‘Community College’ ในทุกวันนี้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘นวัตกรรม’ ระดับชาติที่ไม่ว่ารัฐบาลรุ่นไหนขึ้นมาบริหารประเทศ ก็จะให้ความสำคัญเสมอ เพราะเข้าถึงคนส่วนมากในสังคม และทำให้ประเทศมั่นคงแข็งแรง เชื่อไหมว่าในปัจจุบัน คนที่เรียนจบปริญญาตรีแบบ 4 ปี กว่า 50 เปอร์เซ็นต์เรียนจบ Community College แบบ 2 ปี แล้วค่อยเข้าไปต่อในมหาวิทยาลัยอีก 2 ปี – –  จากเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั้งประเทศ ทำให้ Community College มีทางเลือกในการศึกษามากขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน มีสายอาชีพให้ศึกษา เช่น วิศวะ พยาบาล และบัญชี ควบคู่ไปกับการเรียนสายวิชาการอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Community College แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยก็คือ พันธกิจที่ต้องเข้าถึงชุมชน และซึมซับวัฒนธรรมต่างๆ โดยรอบเพื่อให้อยู่รวมกันได้อย่างกลมกลืน บางคนมองว่าสิ่งนี้จะทำให้นักเรียนต่างเมืองหรือต่างชาติหมดโอกาสเรียนรู้ถึงความหลากหลาย แต่ผมว่านี่ละคือการเรียนรู้ความหลากหลายที่มหาวิทยาลัยไม่มี

พอพูดถึงมหาวิทยาลัยแล้ว…

Community College กลายเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา ครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1960 มูลนิธิ The W.K. Kellogg ได้มอบทุนการศึกษาเพื่ออบรมผู้นำที่จะไปเป็นอธิการบดีหรือเพรซิเด้นท์ในมหาวิทลัย มีมหาวิทยาลัยกว่า 12 แห่งตอบรับโปรเจ็คท์นี้และก่อตั้ง ‘Junior College’ ขึ้นในแคมปัสของตัวเอง 2 ปีผ่านไป มีผู้จบหลักสูตรนี้หลายร้อนคนเข้าไปทำงานในสถาบันการศึกษาระดับชาติตามที่ต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่วางรากฐานให้แข็งแกร่งจนถึงวันนี้  ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง Community College กับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในรัฐเดียวกันยังเกี่ยวข้องไปถึงการเข้าศึกษาต่อโดยมีเงื่อนไขพิเศษให้กับนักศึกษา เช่น คนที่สำเร็จหลักสูตร 2 ปีแรกไม่จำเป็นต้องยื่นผลสอบบางตัว ใช้ Fast Track เข้ามหาวิทยาลัยได้เลย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ทั้ง 2 สถาบันได้ตกลงกันไว้

ค.ศ. 2001 เป็นปีครบรอบการก่อตั้ง Community College แห่งแรกในประเทศอเมริกา สถาบันการศึกษาที่เก่าแก่กว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทย ปัจจุบัน Community College ได้รับความนิยมจากนักเรียนชาวต่างชาติจำนวนมาก เพราะมีค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่ามหาวิทยาลัย คุณภาพการศึกษาที่ดี ครูใกล้ชิดกับนักเรียนมากๆ กิจกรรมมากมายในวิทยาลัย ทั้ง ดนตรี กีฬา เป็นต้น เทคโนโลยีในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่เอื้อให้เราเข้าเรียนได้ง่ายกว่า เช่น ไม่ต้องยื่นคะแนน SAT หรือ TOELF แต่ก็ต้องผ่านข้อสอบของวิทยาลัย (แต่ก็มีคอร์สสำหรับติวเพื่อช่วยเหลือนักเรียนชาวต่างชาติอยู่อีกนั่นละ) ความเจ๋งอีกอย่างของ Community College คือการคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษา เท่าที่ศึกษามา ส่วนใหญ่วิทยาลัยจะตั้งอยู่ในเขตที่อากาศดี ปลอดโปร่ง ใกล้ชิดธรรมชาติ และเดินทางสะดวก นั่งนึกเล่นๆ ว่ามีสถาบันการศึกษาไหนในไทยบ้างนะที่สะดวกสบายได้เท่านี้บ้าง

ผมกลับนึกแปลกใจว่าทำไมตัวเองถึงไม่รู้จัก Community College เลย ทั้งๆ ที่คนไทยก็ไปเรียนต่างประเทศกันเยอะแยะ จริงๆ มันก็มีคำตอบอยู่หลายประเด็นที่ผุดเข้ามาในหัว เช่น คนอาจมองว่า Community College เหมือนโรงเรียนอาชีวะที่บ้านเราไม่ได้ให้ค่า แถมยังมองด้วยสายตาดูถูกด้วยซ้ำไป หรือไม่ก็คิดว่า วุฒิอนุปริญญาจากการเรียนแค่ 2 ปีมันไม่สมศักดิ์ศรีเทียบเท่าวุฒิปริญญาจากการเรียน 4 ปี โดยไม่ได้วัดจากความสามารถที่ได้มา โดยส่วนตัวผมค่อนข้างไว้ใจการศึกษาใน Community College มากๆ เพราะเขาคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้คนในประเทศได้เรียน ไม่ใช่เพื่อขายนักเรียนต่างชาติเท่านั้น ถ้าจำไม่ผิด ตอนนี้ในประเทศอเมริกามี Community College มากกว่า 1,200 แห่ง กระจายกันออกไปตามแต่ละรัฐ สำหรับคนที่สนใจหลักสูตรแบบนี้ ต้องไม่ลืมว่าแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันออกไป ตามหลักสูตรและวัฒนธรรมของรัฐ ฉะนั้นก็ควรจะศึกษาก่อนอย่างละเอียด หรือปรึกษาศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศก็ได้ แล้วจะรู้ว่าการเรียนต่ออเมริกาโดยใช้เงินแค่หลักแสน มีอยู่จริง

อ่านเพิ่มเติม

5 สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Community College คลิก

5 สิ่งใน community college ที่จะทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จ คลิก

ประวัติ Community College
แปลและเรียบเรียงโดย Kim Pattarapong

แหล่งอ้างอิง : History of American Community College

1. Historical Information of Community College คลิก
2. Community Colleges in America: A Historical Perspective คลิก
3. How Community Colleges Changed the Whole Idea of Education in America คลิก

ข้อมูลนี้จัดทำโดยศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศก้อปันกันและขอสงวนไว้ใช้สำหรับเว็บไซด์ของก้อปันกันเท่านั้น