ประสบการณ์จาก Community College
ศึกษาต่อ University of Washington
พี Jirapat Techachakrit
ศิษย์เก่าของ Shoreline Community College
โอนศึกษาต่อ University of Washington
Major : Biochemistry
…
สภาพแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยเป็นยังไงบ้าง ?
สำหรับพีแล้ว สภาพแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยมันค่อนข้างกดดันเพราะมีคนที่เขาอยากสอบได้คะแนนดีเยอะเลยเราต้องแข่งกันตลอดเวลาและเรียนหนักมาก ตอนนี้พีทำงานอยู่ที่คลินิคของมหาวิทยาลัย ถ้าแปลเป็นไทยก็ประมาณว่า ผู้จัดการชีวิตนักศึกษา หน้าที่หลัก คือ การดูแลนักศึกษาให้รู้เรื่องเกี่ยวกับคลินิค ดูแลสุขภาพของนักศึกษาให้ปลอดภัย เนื่องจากในมหาวิทยาลัยมีคนเยอะเลยจะเป็นโรคติดต่อได้ง่าย ล่าสุดที่มหาวิทยาลัยมีโรค Mumps (โรคคางทูม) อาการของโรคก็คล้ายๆป่วยทั่วไป มีอาการเหนื่อย ปวดหัว ปวดตัว กินข้าวไม่ลง และมีคางทูม คลินิคก็จะวุ่นวาย บางทีก็เข้ามาทีพร้อมๆกันเป็นร้อยคน แต่หลังจากนั้นพีก็อยากกลับไปเรียนหมอ พีแพลนว่าจะ Take ปีนึงออกหลังจากเรียนจบเพื่อทำงาน ระหว่างทำงานก็จะหาประสบการณ์ไปด้วย และเริ่มติดต่อมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับแพทย์โดยตรง เพราะที่อเมริกาการเรียนหมอต้องจบปริญญาตรี 4 ปีก่อนแล้วค่อยไปเรียนต่อหมอ
แล้วตอนเรียน Community College เป็นยังไงบ้าง ?
ก่อนหน้านี้พีเรียนที่ Shoreline Community College เรียนเตรียมชีวะเคมีที่ Shoreline เพราะที่ Community College ไม่มีวิชาเรียนเอกระดับปี 3-4 โดยตรง ส่วนมากก็เรียนเป็นวิชาที่ชอบและเรียนวิชาหลักๆที่เอกนั้นเขากำหนดไว้ ตัวพีเองชอบวิชาเคมีกับชีวะอยู่แล้วก็เลยเรียนไปเรื่อยๆ จนได้มาเข้าเอกนี้
ตอนต้องโอนย้ายมามหาวิทยาลัยเป็นยังไงบ้าง ?
ความรู้สึกตอนเรียนที่ Community College ก็รู้สึกว่าการโอนย้ายเข้ามหาวิทยาลัยยากนะ เพราะมันไม่ได้ใช้แค่คะแนนสอบ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเกณฑ์ตัดสินมันอยู่ที่ตรงไหนเลยกลัวว่าจะเข้าไม่ได้ เราต้องเขียน Essay เกี่ยวกับตัวเองเพื่อให้เขาดูว่าเราทำกิจกรรมอะไรบ้าง ทำอะไรให้กับมหาวิทยาลัยได้บ้าง พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าเอกได้อยู่ดี เพราะเรายังต้องเขียนจดหมายให้มหาวิทยาลัยพิจารณาอีกทีเพื่อให้รับเข้าเอกอีก ช่วงนั้นก็วุ่นวายมากๆ ปกติแล้วเขาจะมีอันดับ 1 – 3 ให้เลือก ตอนนั้นสมัครไปมหาวิทยาลัยเดียว เอกเดียว กลัวมาก ไม่รู้ว่าจะติดรึเปล่า แต่พอเข้าไปได้แล้ว ก็รู้สึกว่ามันอาจจะเป็นความรู้สึกที่กลัวมันเกิดจากการที่เราไม่รู้มากกว่า
การเรียนการสอนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและ Community College มันต่างกันเยอะรึเปล่า ?
อย่างที่รู้ๆกันอยู่ว่า Community College เล็กกว่ามหาวิทยาลัยเยอะและทาง University of Washington เป็นมหาวิทยาลัยค่อนข้างใหญ่ จะมีนักศึกษาเยอะมาก ตอนเรียนที่ Community College ก็จะได้คุยและความรู้จักกับอาจารย์เยอะ จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังคุยกับแกอยู่ มีปัญหาอะไรก็คุยกับแกตลอด แต่พอมาเรียนที่มหาวิทยาลัยอาจารย์จะค่อนข้างแตกต่างจากเดิม ในสายวิทย์ของพี อาจารย์ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิจัยมาสอน เขาก็พูดในคลาสไปเรื่อยๆ เขารู้จริงแหละแต่เขาก็ไม่ได้สนใจนักศึกษามากนัก สอบได้ก็ได้ สอบไม่ได้ก็ตกไป
วันก่อนพีสอบไฟนอลที่มหาวิทยาลัย เทอมนี้มีเรียน 3 วิชา แต่อีกวิชานึงยากมาก 2 ชั่วโมงครึ่ง 26 หน้าทำไม่เสร็จแล้วเป็นเลขทั้งหมด เป็นแคลคูลัส + เคมี + ฟิสิกข์ ในระหว่างสอบก็มีนักศึกษาคนนึง แกดูโกรธมากเพราะเขาทำข้อสอบไม่ได้เลยปาดินสอใส่อาจารย์ โชคดีไม่โดนอาจารย์แต่ไปโดนผนังแทน แล้วก็ด่าอาจารย์เสร็จก็เดินออกนอกห้องไปเลย ทุกคนก็ตกใจหมดเลยไม่มีใครพูดอะไร เพิ่งเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้เหมือนกัน
สังคมในมหาวิทยาลัยและ Community College ต่างกันเยอะรึเปล่า ?
สังคมในมหาวิทยาลัยและ Community College ค่อนข้างต่างกันพอสมควร ใน Community College คนจะค่อนข้างคุยกันเยอะ ช่วยเหลือกันเยอะ แต่ในมหาวิทยาลัยสังคมจะค่อนข้างแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะเอกพีนี่แทบจะเหยียบหัวกันเพื่อจะเอาให้ได้ท็อปและเรียนจบ มันเป็นอะไรที่ทำให้พีค่อนข้างลำบากใจแต่เราก็ต้องทำเช่นกัน
ในมหาวิทยาลัยพีมีคนไทยค่อนข้างเยอะ น่าจะประมาณ 500 คนได้ แต่ที่เรียนเอกเดียวกับพีก็มีแค่คนเดียว ส่วนกิจกรรมในมหาวิทยาลัยพีก็อยู่ในคลับ Roller Skate พีเป็นหัวหน้าในชมรมด้วย ส่วนตอน Community College พีเป็นหัวหน้าคลับมวยไทย เพราะตอนนั้นพีมีเวลาค่อนข้างเยอะและพีก็เคยเรียนมวยไทยตอนอยู่ไทย แล้วคนไทยใน Community College มันน้อย พีก็คิดว่าที่นี่ไม่ค่อยมีคลับพวก Martial Art เท่าไหร่ พีเลยถือโอกาสแนะนำมวยไทยให้คนที่นู่นรู้จักด้วย พีก็จะเป็นคนสอนแล้วก็มีเพื่อนคน Mexican อีกคนที่รู้เรื่อง Martial Art มาสอนด้วย
การศึกษาของที่ Community College และ มหาวิทยาลัยมีความแตกต่างยังไงบ้าง ?
อาจารย์ของ Community College ส่วนใหญ่จะจบ Master Degree พวกเขาจะตั้งใจสอนมากๆ และใส่ใจในการสอนมาก ที่นี่เหมาะกับการเรียนเป็นแบบ Foundation ปี 1-2 แต่ถ้าได้เรียนใน University of Washington เราก็จะได้เรียนเรื่องแนวหน้าเพราะส่วนมากอาจารย์เป็นคนทำวิจัยกัน เราเลยได้เรียนรู้ในหลายๆเรื่องที่ยังไม่ได้ลงในหนังสือเลยด้วย อาจารย์คนนึงของพีก็มีเป็นคนค้นพบยีนส์ของมะเร็งเต้านม ได้รางวัลโนเบล เขาก็จะเอาเรื่องนั้นมาสอน
พีคิดว่า ถ้าเราไปเริ่มเรียนที่ Community College มันก็ดีนะ พีอาจจะบอกไม่ถูกว่ามันต่างกับการเรียนแบบมหาวิทยาลัยยังไง เพราะพีไม่เคยเรียนปี 1 – 2 ที่มหาวิทยาลัยโดยตรง แต่พีคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามากในการเรียนที่ Community College เพราะมันไม่จำเจ 4 ปี เราได้เรียนสิ่งที่ต่างกัน 2 ปีแล้วค่อยไปเข้ามหาวิทยาลัย มันเหมือนการเริ่มเรียนแบบขั้นบันได เป็นประสบการณ์ที่พอนึกถึงแล้วพีก็ไม่เคยเสียใจเลยที่ไปเรียนที่ Community College และมันก็ประหยัดมากกว่าด้วย
จาก Community College ไปเรียนมหาวิทยาลัย เราต้องปรับตัวเยอะรึเปล่า ?
การปรับตัวก็ค่อนข้างเยอะ พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วเราต้องอ่านหนังสือเยอะขึ้นมากๆ บางครั้งถ้าอาจารย์สอนไม่ทันในคาบ เขาก็จะให้เราไปอ่านเอาเองแบบ 40 หน้า ตอนเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ๆ พีก็ต้องอ่านหนังสือวันละ 30 – 40 หน้าทุกวันแต่คะแนนก็ยังได้แค่ผ่าน ตอนนั้นก็ท้อและรู้สึกว่าทำแค่ไหนก็ไม่ดีพอสักที ตอนนั้นก็เลยเริ่มปรับแผนการเรียนของตัวเองแล้วมันก็ดีขึ้น
ชีวิตการเป็นนักศึกษาต่างชาติในอเมริกายากรึเปล่า ?
ชีวิตการเรียนที่อเมริกาก็ค่อนข้างยาก ยากในเรื่องเรียนก็ส่วนนึง แต่สำหรับในอเมริกาที่ยากเลย คือ ไม่ใช่แค่เรื่องภาษาแต่เป็นเรื่องความแตกต่างของวัฒนธรรม แล้วก็มีเรื่องเงินที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะตอนย้ายมาแรกๆก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันแพง และก็ต้องระวังเรื่องคนที่ไม่หวังดีต่อชาวต่างชาติเหมือนกัน
การไปเรียนอเมริกาได้เปลี่ยนแปลงอะไรเราไปบ้าง ?
พีรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป เติบโตขึ้น เราเจอปัญหาทั้งน้อย – ใหญ่ในหลายๆเรื่อง แล้วต้องห่างจากครอบครัวที่ไทยด้วย แต่ก็ทำให้รู้สึกตัวว่าต้องพึ่งตัวเองให้ได้ เราต้องจัดการกับปัญหาตัวเองให้ได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกแย่กับการมาเรียนที่อเมริกา เพราะพีคิดว่าการจัดการปัญหาด้วยตัวเองมันดีกว่าการที่คอยให้คนอื่นช่วยจัดการให้ เลยเป็นสิ่งที่พีคิดว่าดีแล้วที่ได้มาที่นี่