ประสบการณ์เรียนภาษาอังกฤษที่ฟิลิปปินส์
” 1 เดือน 2 สถาบัน ” โดย คุณภูมิ
ประสบการณ์เรียนภาษาอังกฤษที่ฟิลิปปินส์
” สัปดาห์ที่ 1-2 “
EV ACADEMY
คอร์ส Sparta ESL
0 ความกลัว
เปิดฉากที่สนามบิน ทุกครั้งเวลาที่ไปต่างประเทศ เราจะกลัวนั่นกลัวนี่ กลัวคุยกะเขาไม่รู้เรื่อง กลัวเรียนแล้วไม่เวิร์ก เครียด สื่อสารกับใครไม่ได้ และต้องทนทู่ซี้เรียนไปแบบนั้น ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษมาหลายเดือนแล้วจะรอดไหม แล้วจะมีอะไรกลับมาเขียนเป็นการ์ตูนด้วยเหรอวะ ตังค์ก็รับเอาจากเขามาแล้ว แล้วถ้าปรับตัวกับโรงเรียนไม่ได้จะทำไงวะ เครียดๆๆ ขึ้นเครื่องไป จนลงเครื่องมาถึงหน้า EV
1 สิ่งอำนวยความสะดวก
ความหรูหราาาาาาา โรงเรียนหรูสุด! ระดับโรงเรียน ความงดงาม ความสะอาด มีแม่บ้าน มีคนซักเสื้อให้ มีร้านกาแฟชิคๆ มียิม มีกิจกรรมเต้น ห้องเรียนโยคะ โต๊ะปิงปอง โต๊ะสนุ๊ก พื้นห้องนอนแทบจะเลียได้
2 กฎระเบียบ
แต่ความหรูหรานั้นมาพร้อมกับกฎระเบียบที่เข้มงวดมากๆ บางอันก็ดูไม่เมคเซนส์ การหักคะแนน การไล่ออก การคิดค่าไฟแบบยุบยิบ เหมือนเด็กหอ หรือคุกที่ถูกบังคับให้เรียนภาษาอังกฤษอย่างเดียว (นี่อายุ 28 แล้วน้า) เขียนบ่นๆ ระบายลงไดอารี่ ปากกาเปื้อนเตียง (ต้องจ่าย 2,000 เปโซ) ชิบหายแล้ว คิดว่าจะออกไปซื้อผ้าปูที่นอนใหม่ซะเลย ถูกกว่า สุดท้ายเซิร์ชกูเกิลว่าทำไงดี ลองใช้น้ำร้อน สุดท้ายเอายาสีฟันป้าย รอด!
3 สปาต้า
อธิบายคอร์สสปาต้าที่เราลง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นคอร์สภาษาอังกฤษที่พัฒนานักเรียนในระยะสั้น ต้องตื่นมาท่องศัพท์ เรียนๆๆๆ ทั้งเรียนกลุ่ม เรียนต่อต่อตัว ท่องประโยค และไปเรียนทบทวนห้อง self study อีกทีในตอนเย็น ห้ามไม่ให้ออกไปข้างนอก อัดภาษาอังกฤษตั้งแต่ตื่นจนหลับ (ถ้าให้ดีฝันต่อเป็นภาษาอังกฤษไปด้วยเลย) เทียบตอนอยู่ที่ออสทั้งปีมีวันพูดอังกฤษมากกว่าวันสองวัน อยู่ที่ฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าทุกวัน (แฟนติดละครออเจ้าด้วย เลยไม่ค่อยได้คุยกัน) วงจรชีวิตการเรียนสปาต้าของเรา ต้องใช้ช่วงระหว่างพักมาสะสมการนอนอยู่เรื่อยๆ ไม่งั้นจะเหนื่อยตาย
4 เกาหลี
แอเดรียน่า คนเกาหลีบอกว่า เขาเพิ่งโดนหักคะแนนไป ตอนนี้โดนไปแล้ว 5 แล้ว มีชื่อติดป้ายว่าอยู่ในโซน Dangerous เพราะถ้าโดนหักอีก 5 คะแนนเขาจะโดนไล่ออกทันที “So you know what the hell is going on here” แอเดรียน่าบอกว่า สปาต้านี่เป็นวิธีการเรียนแบบเกาหลีแท้ๆเลย เป็นเรื่องปกติที่ช่วงกวดวิชาก่อนเข้ามหาลัยจะเรียนกันจนดึกจนดื่นแบบนี้
โยงไปสู่การที่เกาหลีเป็นศูนย์กลางจักรวาล เด็กเกาหลีที่เรียนสปาต้าจะโดนให้ท่องศัพท์มากกว่าชาติอื่นๆ สามสี่เท่า / อาหารร้อยละ 90 เป็นอาหารเกาหลี (ซึ่งคนเกาหลีบอกว่าเฟค) มีกิมจิให้กินทุกมื้อ / นักเรียนเกาหลีเยอะมาก ได้ยินภาษาเกาหลีมากกว่าภาษาอังกฤษอีก / เจ้าของบริษัทเป็นเกาหลี และเมเนเจอร์ใหญ่ทั้งหลาย เป็นเกาหลีหมดสิ้น / กูเกิลในคาเฟ่ต์เป็นภาษาเกาหลี / อาหารในคาเฟ่ก็เป็นเกาหลี ความเข้มงวดดังกล่าวเลยเป็นความเข้มงวดแบบเกาหลีๆ นั่นเอง ซึ่งครูอเมริกันก็บอกว่า เขาไม่เข้าใจ เพราะที่เมกา คุณทำอะไรก็ได้ตามที่คุณต้องการ ถ้าคุณไม่เข้าเรียน คุณก็รับผล ตกวิชานั้นไป แค่นั้นเอง ไม่ต้องมาบังคับ นักเรียนหลายคนที่ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ (แบบเรา) อึดอัด แต่คนเกาหลีคนนึงชื่อลินดา บอกว่า ระบบนี้ดีแล้ว คุณจำเป็นต้องมีข้อห้ามเพราะมีคนจำนวนมาก หลายชาติ ยากแก่การควบคุม และเราก็มาที่นี่เพื่อถูกบังคับไม่ใช่เหรอ ไม่งั้นเราเรียนภาษาอังกฤษเองที่บ้านก็ได้ จะข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนถึงต่างประเทศทำไม
5 ครู
แต่ภายใต้กฎอันโคตรเข้มงวดนั้น ครูๆชาวฟิลิปปินส์กลับชิวมากกกก ตลกมากกก (ครูคนหนึ่งถามว่า รู้จัก มาริโอ้ เมาเร่อ ไหม บอกว่าดูพี่มากพระโขนงแล้วกลัว ไม่เข้าใจมุก ก็เลยดูความหล่อของมาริโอ้อย่างเดียวเลย – หัวเราะเสียงดัง ขำอร่อยกันทุกคน) เช่น วิชาเรียนตัวต่อตัว ครูชวนคุยเล่นหมดเลยทั้งสี่ชั่วโมง ระหว่างคาบก็เมาท์มอย เล่นมุก (เราชื่อ Tanis เรียกเราว่า Tetanus – บาดทะยัก) ช่วงพักเปิดเพลงให้เราไปเต้นในห้อง เอาขนมมาแบ่งกันกิน สอนภาษาไซบวาโน่ สอนวาดรูป คุยเรื่องชีวิต สอนออกเสียง ฯลฯ ซึ่งเราว่ามันดีกับการเรียนภาษามาก เพราะมันทำให้เราผ่อนคลายที่จะสื่อสาร
เนื้อหาการเรียนส่วนใหญ่เองก็พูดถึงความสำเร็จ การก้าวข้ามอุปสรรค ความฉลาด ครูก็เชียร์อัปนักเรียน โยงไปถึงเรื่องภาษาอังกฤษว่าต้องทำได้ๆๆ ตลอด (ความผ่อนคลายนี้เห็นได้ชัดในทุกๆ วิชา เช่นเพื่อนมาใหม่ยังไม่กล้าพูด ครูก็ไม่ได้บีบเค้นอะไร แต่ระหว่างสัปดาห์ก็เห็นได้ชัดเลยว่า พวกเขาผ่อนคลาย กล้าพูดมากขึ้น ไม่ได้ข้ามๆ มันไปปล่อยเบลอไปแบบตอนแรก ตอนคุยกับเดซี่เพื่อนรว่มห้องเรื่องไปออส เกี่ยวกับการทำงานฟาร์ม เราถามว่าจะไปเก็บผลไม้ใช่ไหม เขาทำท่าจะพูดอะไรบางอย่าง แล้วเขาขอไปเปิดดิค ประมาณห้านาทีต่อมา ขึ้นมาว่า definately)
หลายชั่วโมงเป็นการปรึกษาปัญหาชีวิต เช่นมีครูจะเดินทางไปต่างประเทศ ไปสวีเดน/ หรือว่าจะไปเป็นครูภาษาอังกฤษที่อื่นๆ เพราะรายได้ดีกว่า/ เราเลยถามว่ารายได้ขั้นต่ำของที่นี่เท่าไรครับ / ครูบอกที่เซบูวันละ 360 เปโซ (360×26 = 9,360 x 0.65 = 5,630 บาท/เดือน!!) และที่โรงเรียนนี้มีระบบ man to man class ขึ้นมาได้ก็เพราะค่าแรงมันต่ำนี่แหละ
6 ความเหลื่อมล้ำ
ครูชื่อจีเซลบอกว่าประเทศไทยมีฤดูหนาวไหม เพราะสำหรับเขาห้องเนี่ยแหละ หนาวที่สุดในชีวิตเขาแล้ว เพราะที่นี่มีแอร์แต่บ้านเขาไม่มีแอร์ ตอนเลิกเรียนเราจะเห็นเลยว่าครูที่นี่เยอะมากกก ตึกหรูๆของอีวีเองนี่เห็นชัดเลยว่าแตกต่างจากโลกข้างนอกมากๆ มันเหมือนเป็นชีวิตที่แยกขาดจากสังคมฟิลิปปินส์ประมาณนึงเลย
เพื่อนญี่ปุ่น โกโต้ บอกว่า ราคาค่าเรียนที่นี่ถูกกว่าที่ญี่ปุ่นมาก ในราคาเดียวกัน น่าจะช่วยเขาพัฒนาคะแนนโทอิคได้มากกว่าสองสามเท่า แต่เขาก็เข้ามาเรียนเพราะที่นี่มีทริปพาคนญี่ปุ่นไปดูชุมชนแออัด ซึ่งเขาสนใจ ตอนไปให้อาหารเด็กในสลัม เขารู้สึกแย่มาก เด็กที่นี่ไม่มีโอกาสในชีวิต เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ รู้สึกแย่เหมือนตอนไปกรุงเทพ ที่มีสลัมอยู่ติดกับชอปปิ้งมอลล์เลย แกปคนรวยคนจนมันกว้างเกินไป เราถามว่าอ้าว ที่ญี่ปุ่นก็มีโฮมเลสเยอะแยะไม่ใช่เหรอ โกโต้บอกไม่เหมือนกัน เพราะโฮมเลสญี่ปุ่นบางคนมีตังค์ซื้ออพาร์ทเมนต์เพราะรัฐบาลซัพพอร์ต
7 การเรียนโรงเรียนนี้เลยเป็นเหมือนที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเอเชียไปด้วย
(โดยตั้งใจบ้างไม่ได้ตั้งใจบ้าง) เพื่อนญี่ปุ่นตกใจที่ สาววายในไทยเปิดเผยตัวกันโจ่งแจ้งแบบนี้ได้ด้วยเหรอ ครูไม่เข้าใจทำไมคนไทยต้องมีชื่อเล่น แล้วชื่อไม่ได้รีเลทกันเลย ( tanis ไม่ได้อ่านว่า แทนิส นะ อ่านว่า ทนิด) มีวิชา presentation ที่หยิบยกประเด็นมาแล้วเล่าสถานการณ์ของประเทศตัวเอง แล้วครูชงให้ถกกัน เกาหลีบอกว่านักเรียนเกาหลีจะไม่ยกมือถามในห้องเรียน เพราะจะรบกวนครูและเพื่อนๆ เลยจะไปถามตัวต่อตัวกับครูทีหลังมากกว่า ส่วนนักเรียนญี่ปุ่นสมัยประถมต้องทำการบ้านเยอะมากๆ ใช้เวลาวันละสามชั่วโมงเพื่อทำการบ้าน
ตอนเรียนเราที่ออส ครูที่สอนแอนตี้สำเนียงหรือแกรมม่าแบบเมกันมาก บางทีถึงขนาดเปิดคลิปโดนัล ทรัมป์ให้พวกเราดู แล้ววิจารณ์ฉอดๆ แต่ที่นี่จะสอนสำเนียงเมกัน เพราะฟิลลิปปินส์เคยเป็นเมืองขึ้นเมกัน กีฬายอดฮิตก็กีฬาเมกันอย่างบาส เพราะงั้นครูก็พูดน้ำไหลไฟดับด้วยสำเนียงที่คล้ายเมกันสุด แต่ก่อนเราชอบคิดว่าสำเนียงเมกันคือจุดสุดยอดของสำเนียงโลก แต่การไปออสที่เจอทียี่สิบสำเนียง เราก็พบว่าสำเนียงนั้นคือความรุ่มรวยของภาษา เหมือนสำเนียงในภาษาไทย และไม่มีอันไหนที่เป็นสุดยอด ครูสอนพรีเซนต์เราเองจะพูดออกมาเหน่อๆ โซบวาโน่หน่อย แต่ว่าเราชอบความเหน่อนั้นอะ ถึงจุดนึงเราก็พบว่ามันไม่ได้มีสำเนียงไหนที่ “ถูกต้อง” ที่สุด
เหมือนที่ คานโนะ คนญี่ปุ่นบอกว่า เขาเลือกเรียนที่นี่เพราะเขาไม่อยากมาเรียนกับพวกเจ้าของภาษา (อ้าว ทำไมอะ) เพราะว่าคนพวกนั้นอาจจะไม่สามารถอธิบายหลักการ ว่าเหตุผลของไวยกรณ์ต่างๆ มายังไง เพราะเขาอยู่กับมันมาแต่เกิด ได้ดีเท่ากับคนที่ใช้มันเป็นภาษาที่สอง เหมือนที่แกก็อธิบายไม่ได้ใช่ไหม ว่าทำไมแกถึงพูดภาษาไทยออกมาแบบนี้ (แล้วไม่อยากได้สำเนียงเมกันเหรอ?) ไม่อะ สำหรับเรา ภาษาอังกฤษคือเครื่องมือไว้สื่อสารกับคนอื่น ถ้าสิ่งที่เราพูดมันสื่อสารได้ ก็โอเคแล้ว
8 นึกย้อนกลับไปตอนเรียนกับจีเซล
ก่อนมาอีวีเรากลัวมากๆ จีเซลบอกว่า เฮ้ย คุณเป็นนักเขียนการ์ตูนเหรอ สอนฉันวาดรูปหน่อยสิ ฉันอยากวาดรูปเป็นมานานแล้ว เนี่ยวาดได้แต่คนหัวไม้ขีด
“โอเคมา อาจจะต้องเริ่มจากฝึกควบคุมมือก่อนปะ ลองลากเส้นตรงนะ แบบช้าๆนะ” เราพูด
จีเซลลากปื้ดๆ แล้วบอกว่า “ดูดิ๊ เส้นตรงแต่ละเส้นแย่มากเลย”
“เออๆ ทำให้เต็มหน้ากระดาษ ถ้านิ่งแล้วก็ลองฝึกวาดวงกลม”
จีเซลวาดวงกลมแล้วบอกว่า “อ๊าย โคตรแย่ ดูวงกลมช้านดิ ชั้นว่าได้แต่ต้นไม้อะ โอ๊ย ไม่สวยเลย”
“โอเค เรารู้และ คือคุณน่ะเห็นวางการวาดรูปแต่ละรูปเป็นเรื่องใหญ่กับชีวิตมาก ซึ่งมันไปบล็อกความคิดคุณ ทำให้คุณกลัวที่จะวาดรูป ที่สิ่งที่คุณต้องทำคือช่างแม่งเว้ย วาดๆ ไปเหอะ ทำให้การวาดรูปเป็นเรื่องเรียบง่ายเหมือนแปรงฟันอะ วาดๆๆมันไป วาดให้มีความสุข เพราะคุณต้องการจะพัฒนาให้เก่งขึ้นไม่ใช่เหรอวะ อย่าให้ความกลัวมาบล็อกพัฒนาการของคุณ”
อ๊ะ! ก็เหมือนการเรียนภาษาอังกฤษเลยนี่หว่า
เกี่ยวกับสถาบัน EV Academy คลิก
ประสบการณ์เรียนภาษาอังกฤษที่ฟิลิปปินส์
” สัปดาห์ที่ 3-4 “
Philinter Education Center
คอร์ส Advanced Business
เราลงเรียน Business คอร์สด้วยวิธีคิดง่ายๆ คือ มองมันเหมือนเป็นเครื่องผลิตความเก่งภาษาอังกฤษ พอทีมงาน Philinter แนะนำมา เราคิดว่าเราจะเอาตัวเองไปหย่อนลงในเครื่องนั้น แล้วเครื่องจะอึเราออกมาเป็นคนเก่งภาษาอังกฤษขึ้นในสองอาทิตย์ ซึ่งโดยการออกแบบการสอนของที่นี่ก็ดูมีศักยภาพ มีความน่าสนใจหลายอย่าง เช่น มีระบบครูบัดดี้ทีเชอร์ คอยให้คำปรึกษาต่างๆ เรื่องเรียน ยันเรื่องชีวิต มีระบบที่ยืดหยุ่น ถ้าเราไม่พอใจครูคนไหนก็เปลี่ยนได้ หลักสูตรก็ปรับได้ว่าอยากจะไปเรียนห้องไหน กับอาจารย์คนไหน กระทั่งแบบเรียน พอครูเห็นว่าเรามีเวลาแค่สองอาทิตย์ เขาก็บอกว่าเราไม่ต้องซื้อ แค่ถ่ายเอกสารตามที่อาจารย์แนะนำ ประหยัดตังค์ (EV บ่มีแบบนี้)
ครูทุกคนใส่ใจกับตารางของเรา ประเมินว่าในช่วงเวลาแค่สองอาทิตย์ เขาจะสอนอะไรดี สอนได้แค่ไหน อย่างห้องสอน pronunciation ครูจะให้เราอ่านหนังสือหนึ่งย่อหน้า แล้วครูประเมินเหมือนเป็นหมอมาวินิจฉัยโรค ว่าการออกเสียงตัวไหนที่เราทำได้ไม่ชัด ทำได้ไม่ดีบ้าง แล้วโฟกัสแค่ตัวนั้น คือดึงศักยภาพของการเรียนตัวต่อตัวออกมาได้เต็มที่
การออกแบบคอร์สของ Business ก็น่าสนใจ ทุกคนจะได้ไปห้องประชุม นำเสนอเพาเวอร์พอยต์ในประเด็นที่ตัวเองถนัดหรือสนใจ คนพรีเซนต์ก็จะต้องฝึกภาษาอังกฤษเพื่อจะทำพรีเซนต์ให้ดีที่สุด คนไปฟังก็จะได้ฝึกทักษะการฟังสำเนียงอื่นๆ (ซึ่งเราว่าสำคัญนะ) ได้รู้จักเพื่อนในโรงเรียนมากขึ้น เพื่อจะพูดคุยสื่อสารกันได้มากขึ้น
แต่ความที่เราไปเรียนแค่สองอาทิตย์ และมีเวลาเรียนจริงๆแค่ 6 วัน ทั้งที่จริงๆ กระบวนการทำพรีเซนต์มันต้องใช้เวลาทั้งหมดประมาณเดือนนึง ครูบอกว่าแล้วแต่เราว่าจะลองทำดูไหม แต่คุณต้องอัดงานมากกว่าคนอื่นสองถึงสามเท่า ตอนแรกเราก็คิดว่าไหนๆ มานี่แล้วก็ทำสิวะ มีไฟมาก อยากพูดประเด็นที่น่าจะมีประโยชน์กับคนที่นี่ อย่างการศึกษาที่ประเทศไทย แต่พอมาลองคิดประเด็น คิดถึงที่สิ่งที่ต้องนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ ที่ต้องมาอธิบายอะไรเยอะๆ แถมต้องใช้ภาษาที่ดูทางการอีกเชดเปด ยากสาด มันต้องแดกเวลาดูดวิญญาณเราไปหมดสิ้นแน่ๆ
เราอยากเอาเวลาวันหยุดไปดูฉลามวาฬกับเขาบ้าง เลยล้มเลิก เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครบ้าใช้เวลาแค่สองอาทิตย์ไปพรีเซนต์หรอก เราก็หลักลอยไปกับการเรียน ด้วยอภิสิทธิ์ในแบบบล็อกเกอร์ๆ คือครูดูจะใจดีกับเรามากกว่าปกติ โดดบ้างบางวิชาเขาก็ปล่อยๆ รู้สึกเหมือนไม่ค่อยได้ไร แต่คิดว่ามาทำงานเขียนการ์ตูนละกันวะ สัมภาษณ์เก็บข้อมูล รับผิดชอบการทำงานกันไป แต่ที่ๆฝึกฝนภาษาอังกฤษเราได้ดีสุดตอนนั้น กลับเป็นรูมเมทชาวเวียดนามชื่อ นิค
นิค อายุ 36 ทำธุรกิจกาแฟที่โฮจิมินท์ ลูกสอง และตัดสินใจมาเรียนภาษาอังกฤษที่นี่เพื่อจะขยายกลุ่มลูกค้าไปสู่ต่างประเทศ นิคเป็นคนขยันมากๆๆๆๆๆ ตื่นเช้ามาทบทวนบทเรียน ไปเรียนอย่างตั้งใจ (ผมเรียนกลุ่มกับเขาคาบนึง แอคทีฟโคตรๆ) เรียนเสร็จกลับมาทบทวนตั้งแต่เย็นจนถึงเที่ยงคืน (ซึ่งอาจจะแวะไปคุยกับเพื่อนบ้าง โทรคุยกับลูกบ้าง) นิคชอบชวนผมคุย อาจเป็นเพราะเขาอยากฝึกสกิลการพูดเขาด้วย ผมรู้สึกว่าที่เขาขยันกว่าผมมากๆ เพราะเดิมพันชีวิตของเขากับภาษาอังกฤษสูงกว่า การเก่งภาษาของเขาคืออนาคตของธุรกิจและครอบครัว ทำให้เขาใช้เวลากับพื้นที่ในโรงเรียนอย่างเต็มที่ ในโรงเรียนเราจะเห็นคนแบบนี้อยู่จำนวนหนึ่ง คนที่เห็นภาษาอังกฤษเป็นใบเบิกทางสำคัญยิ่งในชีวิต คนที่ต้องรับผิดชอบจ่ายตังค์แพงๆมาเรียนที่ฟิลิปปินส์เอง และต้องจากครอบครัวลูกเมียมา
เราสัมผัสได้ขณะอยู่ Phillinter ว่าภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือที่คนจากประเทศโลกที่สามคาดหวังจะใช้มันยกระดับชีวิตมากๆ ไม่ใช่แค่กับนักเรียน แต่กับครูฟิลิปปินส์เอง หลายคนฝันอยากจะไปทำงาน และตั้งรกรากที่ต่างประเทศ เพราะการเป็นมนุษย์เงินเดือนในฟิลิปปินส์ โอกาสที่คุณจะเก็บเงินก้อนมันน้อยมากหรือว่าไม่ได้เลย คือนอกจากความเหลื่อมล้ำในประเทศ มันยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ ซึ่งคนจากประเทศโลกที่สามอย่างเราก็อยากจะไขว่คว้าโอกาสจากความเหลื่อมล้ำนั้นด้วยภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกัน ที่นี่เราจะเห็นนักเรียนกับอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ที่อาจจะมาเรียนชิวๆ หาประสบการณ์ หาเพื่อน หาแฟน มีคนออกค่าเรียนให้ ไม่มีเดิมพันอะไร และไม่ต้องเก่งภาษาอังกฤษกลับไปจริงๆก็ได้ ตอนนั้นเราพบว่าเรากำลังเป็นคนแบบหลัง เพราะก้อปันกันออกตังค์ให้เรา คิดว่าไม่ต้องได้อะไรกลับไปก็ได้มั้ง เราก็ได้ประสบการณ์หนุกๆ ได้เล่นวอลเลย์บอล ได้ตังค์ค่าจ้างไปทำพรีเซเตชั่นก็เหมือนหาเรื่องปวดหัวใส่ตัวเปล่าๆ
เราอยากเก่งภาษาอังกฤษ แต่เราหวังให้คอร์สที่โรงเรียนเสกเราให้เก่งทันตาได้ โดยที่เราไม่ต้องพยายามไรมาก และเราก็ตำหนิติเตียนคอร์ส ครูบางคน และโชคชะตาวันหยุด ที่ทำให้เราไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่คำถามคือ ก็ในเมื่อบางอย่างมันไม่เวิร์กในตอนนี้ และมันยังแก้ไม่ได้ทันที เราจะเก่งขึ้นได้ไงฟะ ถ้าเราไม่พยายามอย่างเต็มที่ในฐานะนักเรียนเหมือนกัน นิคเอาหนังสือเล่มหนึ่งให้ผมอ่าน เขาบอกว่าเป็นเหมือนไบเบิลของชีวิตเขา เขาอ่านซ้ำไปหลายรอบมาก มันคือหนังสือ ใครเอาเนยแข็งของฉันไป ที่ผมเคยเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อยี่สิบปีก่อนมั้ง แต่ได้มีโอกาสอ่านครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษรวดเดียวจนจบเพราะศัพท์มันง่ายๆ หนังสือมันพูดถึงการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง เปรียบเทียบว่ามีบางคนเวลาเจอสถานการณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง ก็มั่วแต่ยึดติดกับอดีต ขณะที่บางคนรู้จักตั้งคำถาม และเอนจอยกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต และนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นิคบอกว่าพอมาอยู่นี่ เขาก็มีเรื่องต้องกังวล ลูกคนเล็กเขาเพิ่งอายุหนึ่งเดือน ตอนเขาบินมาจากเวียดนาม เขาคิดถึงครอบครัว ลูกงอแงที่ไม่ได้ใช้เวลาด้วยกันในช่วงตรุษจีน แต่เขาก็ต้องเปลี่ยนแปลง พยายามโฟกัสกับสิ่งที่เขาต้องทำตอนนี้ให้ดีที่สุด
เราเลยถามตัวเองว่าเราได้พยายามถึง 20% ของนิคแล้วรึยัง
เราตั้งใจแบบ Best of you (เพลง Foo fighter ดังขึ้นมา) เหมือนนิค
หรือว่าเมเนเจอร์คนไทยที่พยายามจะช่วยเหลือเราไหม
จากนั้นเราเลยตัดสินใจเอาวะ! เริ่มทำกับครูกันใหม่ในเวลาจำกัด 4 วัน มันจะแย่จะห่วยยังไงก็เป็นการเรียนรู้อะแหละ ไม่ต้องไปกลัว สนุกกับมัน จากการเรียนแบบหลักๆ ลอยๆ ไม่รู้จะได้เอาไปใช้ในโลกธุรกิจเมื่อไหร่ตอนไหนได้ คอร์สมันก็กลายเป็นเหมือนการเรียนภาษาอังกฤษแบบ Project based learning ครูทุกคนช่วยโฟกัสกับพรีเซนเทชั่นของเรา ทั้งแกรมม่า การใช้ภาษา การออกเสียง ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ สอนเทคนิคการพูดคุยกับคนดู การตอบคำถาม และซ้อมๆๆๆๆ (บางทีครูยอมอยู่กับเราจนมืด)
จากตอนแรกที่โคตรประหม่า กับการพูดภาษาอังกฤษยาวๆ ต่อหน้าคนเยอะๆ รู้สึกเหมือนปีนภูเขาที่โคตรสูง พูดไปคิดไปเมื่อไหร่มันจะจบสักทีวะ ก็เริ่มคุ้นเคยมากขึ้น พยายามน้อยลง และทำจนผ่านมันไปได้สำเร็จ ครูที่นี่จะพูดกับคนที่ออกไปพรีเซนต์ทุกคนว่า ยินดีด้วย เหมือนการพรีเซนต์นี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ และนักเรียนที่ไม่ได้มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ย่อมต้องรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ มิค เพื่อนคนญี่ปุ่นที่เรียนอยู่ในคลาสกลุ่มเดียวกัน บอกว่าเหมือนยกภูเขาออกจากอกหลังพรีเซนต์เสร็จ จากที่ดูเครียดๆ ก็ทำตัวสบายๆ ขึ้นมาทันที จริงๆ เราเองก็เครียด แต่พอพรีเซนต์จบ เราโล่งอก แบบเฮ้ย เราทำแบบนี้ได้ด้วยเว้ย เราดีใจที่มีครูชื่นชม แต่เราไม่ได้ยินดีอะไรกับตัวเอง เพราะเราไม่อยากให้มันเป็นตอนจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนภาษาอังกฤษตลอดชีวิตของเรา เพื่อที่จะเติบโตไปได้มากกว่านี้