การเรียนรู้ของผมจาก
ประสบการณ์ใน Community College
ก่อนนี้ผมเป็นเหมือนกับนักเรียนไทยหลายๆคนที่คิดว่า “เรียนไปทำไม เรียนไปก็เอาไปใช้อะไรไม่ได้(มาก)” มีการพูดกันว่าการท่องจำหนังสือมันไร้ประโยชน์ เพราะส่วนมากเมื่อสอบเสร็จก็ลืม ที่สำคัญ คนรอบๆตัวก็ไม่ได้มีส่วนร่วมมากนักในการที่จะช่วยให้ผมเข้าใจว่าการศึกษามันมีผลดีอย่างไรกับชีวิต แต่ผมก็ยังต้องไปเรียนทุกวัน เพราะค่านิยมที่ว่าต้องเรียนให้ได้ดี เข้ามหาลัยที่มีชื่อเสียงให้ได้ จะได้มีงานที่ดีทำ แล้วจะมีความสุขในอนาคต
มันเป็นความโชคดีที่ผมรับโอกาสและการสนับสนุนจากครอบครัว ในปี 2554 ผมตัดสินใจไปเรียนต่อในระดับอนุปริญญา (Associate Degree) ณ วิทยาลัยชุมชนชื่อชอไลน์ (Shoreline Community College) ในรัฐวอชิงตัน (Washington) ประเทศสหรัฐอเมริกา และต่อมา วิธีคิดและชุดของความเชื่อของผมก็ได้เปลี่ยนไปแบบ 360 องศา…
ผมเริ่มเรียนระดับอนุปริญญาสาขาธุรกิจด้วยความหวังว่าจะเอาความรู้และทักษะที่ได้มาดำเนินกิจการครอบครัวต่อจากพ่อผม แต่แล้ว…ผมก็ได้เปลี่ยนจากความตั้งใจที่มุ่งมั่นจะหาเงินอย่างเดียวไป เมื่อผมได้ไปเรียนเรื่องราวต่างๆในภาควิชาความเท่าเทียมและความยุติธรรมในสังคม (Equity And Social Justice) ภาควิชานี้ทำให้ผมได้เข้าใจความหมายของการเรียนรู้เป็นอย่างดี การเรียนรู้และเนื้อหาในภาควิชานี้สอนให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมด้วยการคิดวิเคราะห์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่อความเป็นตัวตนของคนในสังคมจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น สถาบันสื่อ สถานบันครอบครัว สถาบันกฎหมาย หรือแม้แต่เรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ถูกบอกกล่าวผ่านวัฒนธรรม
ผมได้เริ่มมีความปรารถนาที่จะพัฒนาสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนภายใต้ความแตกต่าง และความเคารพต่อความเป็นมนุษย์ต่อกันและกัน อาจารย์ส่วนใหญ่ได้ใช้วิธีการที่หลากหลายในการสอน และได้เปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันเรื่องราว โต้แย้ง ตั้งคำถามจากประสบการณ์ ความคิด และความเชื่อส่วนตัว และสิ่งนี้เองทำให้ความรู้ของผมได้เปิดกว้างจนเข้าใจว่าระบบทางสังคม และขั้นตอนการเรียนรู้จากสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มนุษย์เราได้สร้างขึ้นและรักษาสืบมานั้น ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอย่างฝังราก ตัวอย่างเช่น ปัญหาความยากจน คนที่เกิดมาในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำไม่ได้มีสิทธิที่เท่าเทียมกับผู้มีรายได้สูงในการที่จะขยับเคลื่อนขึ้นสู่ระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากสิ่งแวดล้อมและระบบสังคมที่กดขี่พวกเขาทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตใต้สำนึก ตลอดจนปัญหาของความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ เนื่องจากค่านิยมและความเชื่อในหน้าที่และบทบาททางสังคมที่แตกต่างสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย
นอกจากการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงความคิดต่อการศึกษาและปัญหาทางสังคมแล้ว การเข้าร่วมกิจกรรมของวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้ผมพัฒนาประสบการณ์และทักษะการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างมาก ในปีแรกผมได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในห้าของนักเรียนจากนานาประเทศที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนักเรียนนานาชาติในการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนนักเรียนนานาชาติ รวมไปถึงการร่วมจัดการปฐมนิเทศน์สำหรับนักเรียนใหม่ วางแผนและจัดกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินและการเรียนรู้ และเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนนานาชาติ ซึ่งการทำงานนี้ก็ทำให้ผมได้ทำความรู้จักกับเพื่อนๆมากมายจากหลายประเทศ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนี้ ผมรู้สึกถึงความหมายของการทำหน้าที่เพื่อผู้อื่น เพราะเห็นได้ถึงการเรียนรู้ การเติบโตและพัฒนาการของเพื่อนนักเรียนที่หลากหลาย
ณ ตอนนั้น ผมต้องการที่จะท้าทายและพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำของตนเอง จึงได้ลงสมัครและได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานสภานักเรียนของวิทยาลัย 2 สมัยเป็นเวลา 2 ปีต่อเนื่องกัน โดยมีหน้าที่เป็นตัวแทนของนักเรียนในการประชุมต่างๆของวิทยาลัยการวางแผนและการจัดการส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น และการพัฒนางานบริการการศึกษาของวิทยาลัยมากขึ้น และการบริหารและจัดงบประมาณของนักเรียนกว่า 3 ล้านเหรียญต่อปี หรือประมาณ 90 ล้านบาท
งานอื่นที่ได้ลงมือทำในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานนักเรียนคือ การพัฒนาชุมชนของนักเรียนที่มีความเท่าเทียมแก่นักเรียนที่หลากหลายโดยการสนับสนุนการเพิ่มบุคลากร และงานบริการเพื่อช่วยเหลือนักเรียนผู้มีโอกาสน้อยกว่า รวมไปถึงการส่งเสริมการพัฒนาด้านการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของงบประมาณที่ลดลงและให้โอกาสแก่นักเรียนในการรวมตัวและแสดงความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณการศึกษาต่อรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่ทำร่วมกันระหว่างสภานักเรียน นักเรียนจากชมรมต่างๆ คณาจารย์ พนักงานและผู้บริหารของวิทยาลัย
ซึ่งสิ่งที่ผมได้รับจากประสบการณ์การทำงานในขณะที่ศึกษาอยู่ในวิทยาลัยนี้คือ หลักการของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งหมายถึง การให้ความเคารพและแสดงความเท่าเทียมกับผู้อื่น การสนับสนุนให้อำนาจผู้อื่นในการคิดและลงมือทำ การให้ข้อมูลของผลกระทบจากการกระทำและการตัดสินใจแบบเปิดเผย การเข้าหาผู้คนอื่นเพื่อที่จะทำความเข้าใจ การพูดคุยถึงปัญหา และการยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างในการที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ Seattle ผมเคยมีโอกาสได้ได้จัด rally ที่ capital ของรัฐ Washington ให้นักเรียนและนักศึกษาได้ไปชุมนุมเรียกร้องการสนับสนุนงบประมาณทางการศึกษาให้ วิทยาลัยต่างๆ ในรัฐ Washington รวมถึงพบเจอกับตัวแทนนักการเมืองประจำเขตพื้นที่ของแต่ละวิทยาลัยที่ capital ซึ่งในช่วงเวลานั้น มี 99 หรือ Occupy Movement ของประชาชนทั่วอเมริกาที่รวมตัวชุมนุม เรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรทรัพยากรส่วนกลาง เพื่อให้กับประชากรทุกกลุ่มในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคกันมากขึ้น โดยเฉพาะการลดหย่อนสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับประชากรที่รวยที่สุดของประเทศ 1% ที่มั่นคงที่สุด ด้วยการถือครองสินทรัพย์ 99% ของประเทศ อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย และทิศทางการเมืองจนเกินขอบเขตของความยุติธรรมอีกด้วย การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในรูปแบบนี้ช่วยเปิดโลกทัศน์ของผมมากเลยล่ะครับ
สำหรับในเวลาว่างนั้น ผมชอบที่จะใช้เวลาท่องเที่ยวธรรมชาติและแคมปิ้งตามอุทยานต่างๆกับเพื่อนจากนานาประเทศ ซึ่งรัฐ Washington นั้นมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมายให้ไปเยี่ยมเยือนทั้งภูเขาและน้ำ นับเป็นช่วงเวลาที่ดีมากๆของชีวิต 🙂
ในปี 2556 ผมได้จบการศึกษาระดับอนุปริญญาในสาขาที่ผมออกแบบเอง คือ ธุรกิจและการเรียนรู้ทางจิตวิทยาและสังคมศึกษา นับแต่นั้นมา ทัศนคติต่อการศึกษาของผมก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ผมมีความสนใจในประเด็นทางสังคมมากขึ้น และคิดมากขึ้นว่า ผมจะคืนสิ่งใดกลับให้ภาคสังคมได้บ้าง เวลานี้ผมอยู่ในประเทศไทย ช่วยที่บ้านติดต่อกับลูกค้าต่างประเทศ ใช้เวลาเรียนรู้ว่าสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมในสังคมไทย กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เพราะเราได้เปิดรับวัฒนธรรม อารยธรรม เทคโนโลยีจากกระแสโลกาภิวัฒน์
# ประสบการณ์ใน Community College
บทความเกี่ยวข้อง
• เกี่ยวกับ Community College click ที่นี่
• บันทึก : จากนักเรียนใหม่ในต่างแดน .. สู่ ก้อปันกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการ ศึกษาต่อ community college อเมริกา – click ที่นี่