5 สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Community College
คงมีหลายคนที่รู้จักคำว่า “Community College” ใช่ไม๊คะ โดยส่วนใหญ่มักจะคุ้นหูคุ้นตากับความเป็นกระแสทางเลือกของการไปเรียนต่อปริญญาตรี ที่อเมริกา โดยเฉพาะจุดเด่นหลักๆ ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่ากว่าการเรียนมหาวิทยาลัยแบบ 4 ปี และเรื่องการสมัครเข้าเรียนที่ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องใช้ผล TOEFL/IELTS หรือ Personal Statement (จดหมายรับรองจากอาจารย์) แต่ก็สามารถเรียนเพื่อได้วุฒิปริญญาตรีเหมือนกัน
ถึงแม้ว่าเรื่องค่าใช้จ่ายและการสมัครเข้าเรียนได้ง่ายนั้นเป็นจุดที่ทำให้หลายๆ คนหันมาสนใจ community college กันมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับ community college ที่เรา ศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศก้อปันกัน ถูกถามอยู่เป็นประจำจากผู้ที่เข้ามาติดต่อค่ะ
วันนี้ได้โอกาส เราจึงขอใช้พื้นที่นี้ในการตอบคำถามที่เราเจอบ่อยๆ เกี่ยวกับ Community College และนำมาสรุปเป็น 5 สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Community College ดังนี้ค่ะ
1. ป.ตรี ที่ได้จากการเรียนใน Community College เชื่อถือได้หรือเปล่า?
ขอพักเรื่องเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือไว้ตรงบรรทัดนี้ก่อนนะคะ เพื่อที่จะได้อธิบายก่อนว่าการเรียนเพื่อให้จบปริญญาตรีของ community college นั้น นักเรียนจะต้องลงเรียนหลักสูตรที่ชื่อว่า 2+2 University Transfer ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จัดให้นักเรียนเรียน ปี 1 ปี 2 ในวิทยาลัยให้จบ 2 ปี จนได้อนุปริญญาก่อน แล้วจากนั้นให้โอนหน่วยกิตไปเรียนต่อ ปี 3 ปี 4 ในมหาวิทยาลัยอีก 2 ปี จบจนได้ปริญญาตรีค่ะ ซึ่งวิชาที่เรียนตอน ปี 1 ปี 2 ใน community college นั้นมีฐานะเทียบเท่ากับวิชาของปี 1 ปี 2 ในมหาวิทยาลัย
ยิ่งมหาวิทยาลัยและ community college ที่อยู่ในรัฐเดียวกัน หลักสูตรและหนังสือที่ใช้ก็แทบจะเหมือนกันเลยค่ะ เมื่อเคลียร์ตรงนี้แล้วก็จะเข้าใจตรงกันว่า community college ไม่ได้ให้ปริญญาตรีแก่เราโดยตรง แต่ community college เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือ (เพราะรับรองโดยกระทรวงศึกษาของสหรัฐ) ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยคุณภาพของอเมริกาค่ะ
จากตรงนี้เราขอย้อนกลับไปตอบคำถาม เรื่องความน่าเชื่อถือของปริญญาตรีจากการเรียนใน community college อีกครั้งค่ะว่า ปริญญาตรีที่เริ่มต้นจากการเรียน community college นั้นมีคุณภาพเทียบเท่ากับการเรียน 4 ปี ในมหาวิทยาลัย เพราะ community college เป็นบันไดที่แข็งแรง เพื่อให้นักเรียนสามารถคว้าใบปริญญาที่มีคุณภาพมาได้ค่ะ
2. Community College ประหยัดกว่าก็จริง แต่คุณภาพจะโอเคหรอ?
เมื่อคำถามเช่นนี้ถูกถามขึ้น เราก็จะมานั่งถามกันว่านักเรียนคาดหวังอะไรจากการได้เข้าเรียน ในสถาบันที่ดีและมีชื่อเสียง? สิ่งที่นักเรียนส่วนใหญ่คาดหวังนั้นคงหนีไม่พ้นคุณภาพทางวิชาการที่เข้มข้น และการได้มีโอกาสนั่งเรียนกับอาจารย์ระดับมาสเตอร์ ถ้าความคาดหวังของนักเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินจากการดาดเดาของเราล่ะก็ คำว่า “คุณภาพ” ของเรา น่าจะมีความหมายเดียวกันค่ะ เพราะนอกจากวิชาในชั้นปี 1 ปี 2 ของ community college ที่หน่วยกิตเทียบเท่ากับวิชา ปี 1 ปี 2 ของมหาวิทยาลัยแล้ว อาจารย์ที่สอนใน community college นั้นก็เป็นอาจารย์ที่จบวุฒิ ป.โท และ ป.เอก ซึ่งมีศักดิ์เทียบเท่ากับอาจารย์ของมหาวิยาลัย เลยค่ะ
แต่ต่างกันแค่จุดเดียวเท่านั้นตรงที่อาจารย์ของ community college มีเวลาโฟกัสกับนักเรียนในห้องมากกว่า เพราะอาจารย์เหล่านั้นไม่ต้องเสียเวลาไปกับการทำงานวิจัยเพื่อเอาตำแหน่งทางวิชาการ เหมือนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย บวกกับห้องเรียนของ community college ก็จำกัดให้มีจำนวนนักเรียน สูงสุดราวๆ 35 คนเท่านั้น ทำให้นักเรียนทุกคนในชั้นได้รับการใส่ใจอย่างทั่วถึง และด้วยเหตุผลนี้เองค่ะที่ทำให้ community college สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องงานวิจัยและบุคลากรได้ จึงทำให้ค่าเล่าเรียนของ community college ค่อนข้างเป็นมิตรต่อทั้งนักเรียนและผู้ปกครองค่ะ
หากพิจารณาความนิยมจากข้อมูลสถิติแล้วสามารถบอกได้ว่า นักเรียนอเมริกันกว่า 50% ซึ่งโดยเฉลี่ยมีอายุประมาณ 18-24 ปี เลือกเรียนใน community college ก่อนที่จะโอนไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยค่ะ และที่สำคัญคือ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาต่อ community college ก่อนโอนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยปี 3-4 มักจะมีความพร้อมด้านวิชาการมากกว่านักศึกษาที่ศึกษาในมหาวิทยาลัย 4 ปีโดยตรงอีกด้วย
3. เรียน Community College เหมือนกับเรียนสายอาชีพบ้านเราใช่ไหม?
การที่มีคนไทยไปเรียนใน community college น้อย และโครงสร้างการศึกษาระดับอุดมศึกษาและวิทยาลัยชุมชนในประเทศไทยไม่เหมือนกับของอเมริกา ส่งผลให้คนไทยเข้าใจ community college อย่างไม่ถูกต้องนัก คือเข้าใจว่าการเรียน community college ก็คือการเรียน ปวช. ปวส. ในบ้านเรา ซึ่งจริงๆ แล้ว community college ในอเมริกามีหลักสูตรให้เรียนแบบเฉพาะทางหรือวิชาชีพก็จริง โดยอาจจะเป็นหหลักสูตร certificate ระยะสั้น ซึ่งเหมาะกับคนทำงานที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพหรือพัฒนาตนเองในอาชีพเดิม หรือ Associate of Applied คือ อนุปริญญา 2 ปีสำหรับการประยุกต์หรือการนำไปประกอบอาชีพเฉพาะทางนั่นเอง ซึ่ง Associate of Applied จะไม่สามารถใช้โอนเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีได้
สำหรับบุคคลที่ต้องการศึกษาระดับปริญญาตรีในอเมริกา โดยปกติแล้ว community college ในอเมริกามีหลักสูตร Associate in Transfer หรือเป็นอนุปริญญาที่ใช้สำหรับโอนเข้าศึกษาที่ในมหาวิทยาลัย 4 ปี ซึ่งมีวิชาพื้นฐานให้เลือกเรียนเหมือนกับการเรียน 2 ปีแรกในมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่มีภูมิหลังหลากหลาย ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับสูง ซึ่งระบบการศึกษาแบบนี้ยังไม่มีในประเทศไทย จึงไม่สามารถนำหลักสูตรของสายอาชีพบ้านเราและ community college ของอเมริกา มาเทียบเคียงกันได้ซะทีเดียวค่ะ
4. พอจบ Community College แล้วจะมีมหาวิทยาลัยรับเข้าเรียนต่อแน่ใช่ไหม ?
ก่อนที่เราจะตอบว่าคุณจะได้ไปต่อในโลกมหาวิทยาลัยของสหรัฐได้หรือไม่นั้น เราจะขอชวนมา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการโอนหน่วยกิตของทางอเมริกากันก่อนค่ะ…..
การโอนหน่วยกิตจาก community college เพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยหรือที่เรียกว่า Transfer นั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้…
แบบที่ 1 Condition Guarantee Transfer
สำหรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจาก community college ตามเกณฑ์ ซึ่งกำหนดโดยมหาวิทยาลัยในเครือข่าย (University Partnerships) นักเรียนคนนั้นก็จะได้รับการรับรองให้โอนเข้ามหาวิทยาลัยในเครือข่ายได้เลย ซึ่งทุก community college จะมีมหาวิทยาลัยในเครือข่ายที่อยู่ทั้งในและนอกรัฐอยู่แล้ว ดังนั้นหากนักเรียนสามารถสำเร็จการศึกษา 2 ปีใน community college ได้ ก็เท่ากับว่านักเรียนจะมีสิทธิ์ได้เข้าไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย แน่นอนค่ะ
แบบที่ 2 General Transfer
นักเรียนสามารถโอนเข้าไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของ community college ของตนได้ เช่นเหล่ามหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ในอเมริกา อาทิ Cornell University, UCLA, UC Berkeley, University of Texas-Austin, Columbia University, University of Southern California และ New York University โดยเฉพาะนักเรียนที่ผลการเรียนดี รวมถึงมีส่วนร่วมในกิจกรรมขณะที่เรียนอยู่ใน community college ถ้าอยู่ในเงื่อนไขนี้ก็จะมีโอกาสได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยเหล่านั้นมากขึ้น ทั้งนี้มหาวิทยาลัย Top Range หรือ มหาวิทยาลัยที่เป็น selective เหล่านี้จะไม่ทำสัญญารับรองการเข้าเรียนต่อร่วมกับ college ใดๆ เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักเรียนมาสมัครเรียนมากอยู่แล้วค่ะ
เอาล่ะค่ะ เมื่อรู้จักการโอนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แบบแล้ว ก็จะได้รู้กันสักทีว่า…จบแล้วไปไหน!?
5. เรียนต่อ Community College ในอเมริกาต้องจ่ายเงินเต็มก้อน(เต็มปีการศึกษา) และจ่ายก่อนไปหรือเปล่า ?
เรื่องการจ่ายค่าเทอมนั้นนักเรียนสามารถแบ่งจ่ายเป็นรายเทอมได้ (ทุก 3 เดือน) โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายทีเดียวสำหรับทั้งปีการศึกษา และสามารถจ่ายกับทางวิทยาลัยได้โดยตรง ส่วนที่ว่าต้องจ่ายก่อนไปหรือเปล่านั้น ทั้งค่าเทอม ค่าธรรมเนียม และค่าที่พักต่างๆ นักเรียนต้องไปจ่ายที่นั่นค่ะ เพราะในช่วงสัปดาห์แรกก่อนเปิดเรียน ทาง community college จะจัดกิจกรรม orientation หรือปฐมนิเทศ รวมถึงการสอบวัดผล (placement test) เพื่อให้นักเรียนได้รู้ว่าจะต้องเรียนอะไรบ้าง และต้องเข้าเรียนปรับภาษาเพิ่มหรือเปล่า ดังนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะรู้ก็ต่อเมื่อนักเรียนได้รู้ผลเหล่านี้แล้วค่ะ
เอ่าล่ะค่ะในที่สุดก็จบไปแล้วสำหรับ FAQ ทั้ง 5 ข้อเกี่ยวกับ community college ต้องบอกตรงๆ ว่าเป็นคำถามที่พบบ่อยมากจริงๆ เวลามีคนติดต่อเข้ามาค่ะ หวังว่าน้องๆ หรือผู้ปกครองที่ได้อ่านบทความนี้ ไปแล้วจะเข้าใจ Community College กันมากขึ้นนะคะ อ่านแล้วก็แชร์วนไปได้ตามอัธยาศัย จะแชร์ให้เพื่อน ให้พ่อแม่ ให้น้อง ให้ลูก ให้ญาติ หรือใครก็ตามที่อยากไปเรียนต่ออเมริกาในแบบทางเลือก ยิ่งแชร์เรายิ่งชอบค่ะ
แต่ถ้าอ่านแล้วยังอยากรู้มากกว่า 5 คำถามที่เรายกตัวอย่างไป หรือว่ากระจ่างหมดทุกข้อสงสัย แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง หรือยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปดีหรือเปล่า แล้วถ้าไปจะเลือกที่ไหนดี don’t be shy ค่ะ ถามเรามาได้เลยนะคะ ทางไลน์ @korpungun ค่ะ
เพราะจริงๆ แล้ว community college มีเยอะมากค่ะ เรียกว่ามีเกือบทุกรัฐในอเมริกาเลย เราจึงจำเป็นต้องช่วยนักเรียนค่อยๆ สโคปความต้องการให้ชัดขึ้น เพื่อที่จะสามารถช่วยแนะนำตัวเลือก ที่ดีที่สุดให้ได้ค่ะว่าควรจะเลือกเรียนที่ไหน
# 5 สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Community College
บทความโดยศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศก้อปันกัน
Featured image credit : Lane Community College